ฟ้าบ่กั้น เรื่อง “กระดานไฟ”


ฟ้าบ่กั้น เรื่อง “กระดานไฟ”

            หนังสือ “ฟ้าบ่กั้น” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นของนักเขียน ลาว คำหอม ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2501 เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น สะท้อนภาพชีวิตชนบทของไทยที่ได้รับการยกย่องมากอีกเล่มหนึ่งของไทย มีลักษณะการเขียนเป็นการเย้ยหยันธรรมชาติ เย้ยหยันวัฒนธรรมที่ล้าหลัง และเย้ยหยันชนชั้นปกครอง ซึ่งเรื่อง “กระดานไฟ” นั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อเรื่อง การทำคลอดของคนในหมู่บ้าน “มาบตายัง” ซึ่งเป็น    คติชน ประเภท ผสม คือ มีทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับ มุขปาถะ และ อมุขปาถะ ผสมกันอยู่ สามารถแยกได้ดังนี้
             เรื่อง “กระดานไฟ” นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน “มาบตายัง” เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ และมีเรื่องเล่าที่ เกี่ยวข้องกับที่มาของชื่อหมู่บ้าน ซึ่งเป็นคติชน ประเภท มุขปาถะ คือเป็นเรื่องเล่าปากต่อปากที่เล่าต่อ ๆ กันมา โดย ลาว คำหอม ได้เขียนอธิบายเกี่ยวกับที่มาของชื่อหมู่บ้านไว้ว่า “... หมู่บ้านนั้นมีชื่อว่า “มาบตายัง” อันเป็นเสมือนอนุสรณ์แก่นายยัง เดือนขาว ชายแก่ผู้มาลงเสาสร้างเรือนบนผืนที่ราบแห่งนี้คนแรก ตัวแกเคยบอกกับเพื่อนบ้านผู้มาภายหลังว่า เพราะทะเลาะกับพ่อตาจึงหอบเมียดั้นด้นมาอยู่ดง  แต่มาจากไหนแกไม่ยอมบอก ” (ลาว คำหอม, 2547: 139)
             และยังมีการอธิบายที่เกี่ยวข้องกับ ตอไม้ตะเคียนผุ ๆ ที่อยู่กลางหมู่บ้าน ซึ่ง ลาว คำหอม ได้เขียนอธิบายไว้ว่า
      “... เมื่อยังเด็ก ทุกครั้งที่พ่อหรือแม่พาเดินผ่าน เขาได้เห็นพ่อแม่ค้อมหัวยกมือไหว้ตอไม้นั้นอย่างนอบน้อม เมื่อโตขึ้นหน่อยพ่อแม่ก็เริ่มสอนให้เขายกมือไหว้ เมื่อทำเองเป็น เขาพากันยกมือไหว้โดยไม่ต้องมีใครบอก และเมื่อพาน้องคนน้อย ๆ เดินผ่าน เขาก็เป็นผู้สอนให้น้องกราบไหว้เช่นเดียวกัน ต้นปีใหม่คนในทุกครอบครัวจะพากันมารวมชุมชมเซ่นไหว้บวงสรวงขอความร่มเย็นเป็นสุข โดยมีชายแก่ที่ทุกคนเรียก “พ่อยัง” พากล่าวอ้อนวอน และทำหน้าที่ฝากทารกน้อยผู้เกิดใหม่ในหมู่บ้านให้เจ้าแม่แผ่บารมีคุ้มกันรักษา” (ลาว คำหอม, 2547: 140)
ซึ่งสามารถอธิบายตาม คติชน ได้ดังนี้คือ ตอไม้ตะเคียนผุ ๆ นั้นเป็น อมุขปาถะ คือเป็นวัตถุที่คนในหมู่บ้านเคารพกราบไหว้ ซึ่งได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา และความเชื่อที่เป็น มุขปาถะ เกี่ยวข้องกับ ตอไม้ตะเคียนผุ ๆ คือ การทำพิธีกรรมเกี่ยวกับตอไม้ตะเคียน โดยเชื่อว่าตอไม้ตะเคียนผุ ๆ นั้นมีเจ้าแม่สิงสถิตอยู่ และการทำพิธีกรรม ซึ่งจะทำผ่าน “พ่อยัง” คนที่เป็นคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านที่เป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้านโดยจะเป็นคนที่คอยทำหน้าที่ฝากทารกที่เกิดใหม่ในหมู่บ้านให้เจ้าแม่คุ้มครอง คุ้มกันรักษา   โดยมีการอธิบายเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ของเจ้าแม่ ผ่านตัวละครแม่ ว่า “... ท่านคุ้มครองเราจากโรคภัยไข้หนาว คุ้มเราจาก ผีเป้า ผีปอบ ผีโพง ผีดง ผีป่า” (ลาว คำหอม, 2547: 140)
            นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่เกี่ยวกับ กระดานศักดิ์สิทธิ์ หรือ แผ่นไม้กระดานสีดำ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “อีแม่ตะเคียนทอง” เป็นแผ่นไม้ศักดิ์สิทธิ์ใช้ในการอยู่ไฟหลังคลอด กล่าวคือผู้หญิงคนใดก็ตามในหมู่บ้านหากคลอดลูกจะต้องอยู่ไฟด้วยกระดานศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในบ้านของพ่อยัง ซึ่งเป็นแกนหลักสำคัญของเรื่องนี้ และเป็นเรื่องที่ประกอบด้วยความเชื่อที่เป็นมุขปาถะและอมุขปาถะ  สามารถอธิบายแยกย่อยได้ดังนี้กระดานศักดิ์สิทธิ์ หรือ แผ่นไม้กระดานสีดำ เป็น อมุขปาถะ คือเป็นสิ่งของที่สามารถจับต้องได้ โดย ลาว คำหอม ได้เขียนอธิบายเกี่ยวกับ กระดานศักดิ์สิทธิ์ ว่า  “... กระดานแผ่นนั้นกว้างประมาณสองศอก ยาววาเศษ ๆ รอยขวานขรุขระยังมองเห็นราง ๆ ตรงปลายทั้งสองข้างมีคราบขมิ้นและน้ำหอมป่าพอกหนา”       (ลาว คำหอม, 2547: 142) และเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับ กระดานศักดิ์สิทธิ์ คือผู้ใดที่จะคลอดลูกหากไม่ได้อยู่ไฟหลังคลอดบนกระดานศักดิ์สิทธิ์ นั้นอาจจะตายได้ ซึ่งนั้นเป็นความเชื่อที่เป็น อมุขปาถะ โดย ลาว คำหอม ได้เขียนอธิบายผ่านตัวละครที่ชื่อ เคน ไว้ว่า “...ใครไม่ได้อยู่ไฟบนกระดานศักดิ์สิทธิ์จะตายโหงตายห่า” (ลาว คำหอม, 2547: 144)
             และยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำคลอดอีกอย่างหนึ่งที่หน้าสนใจคือ “ยาเลือด” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในด้านการแพทย์อย่างหนึ่ง ประกอบด้วย ช่อไฟ และน้ำเยี่ยว  โดยได้มีการอธิบาย ผ่านบทสนทนาของหมอตำแย และเคน ว่า
“ยังงันยาเลือดเอ็งต้องเตรียมให้พร้อม”
“อะไรบ้างป้า ?”
“ช่อไฟ น้ำเยี่ยว”
“ช่อไฟฉันไม่รู้จัก”
“ไอ้หน้าโง่ จะเป็นพ่อคนอยู่แล้วยังไม่ประสา ก็เขม่าควันดำที่เกาะอยู่ตามหญ้าหรือชายตอกเหนือเตาไฟในครัวนั่นไงเอามาบดให้ละเอียด ละลายน้ำเยี่ยวให้มันกิน” (ลาว คำหอม, 2547: 143)
            สรุปได้ว่า ความเชื่อที่อยู่ในเรื่อง “กระดานไฟ” เป็นคติชนประเภท ผสม โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้
1. ประเภท มุขปาถะ ประกอบด้วย เรื่องเล่าที่มาชื่อหมู่บ้านมาบตายัง, เรื่องเล่าเกี่ยวกับตอไม้ตะเคียน, พิธีกรรมที่เกี่ยวกับตอไม้ตะเคียน และเรื่องเล่าที่กระดานศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการอยู่ไฟ 
2. ประเภท อมุขปาถะ ประกอบด้วย ตอไม้ตะเคียนผุ ๆ และ กระดานศักดิ์สิทธิ์
นอกจากนี้ยังมี คติชน ที่เกี่ยวกับภูมิปัญญาชาวบ้านในด้านการแพทย์ คือการทำคลอด


กมลรัตน์ กรุดสายสอาด





 


อ้างอิง

ลาว คำหอม. 2547. ฟ้าบ่กัน. พิมพ์ครั้งที่ 16. กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์.

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เรื่องสั้น นกเขาไฟ : ความเชื่อเรื่องนกเขาไฟกับความคิดของคนในสังคมไทย

วิจารณ์วรรณคดีบทละครนอก เรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต

บทวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ จาก มีดประจำตัว สู่ น้องเมย์ไปงานเลี้ยงปีใหม่ : สัมพันธภาพสะท้อนสังคมของ “มีด” และ “ใบหน้า” ของ ชลเทพ อมรตระกูล และบทวิจารณ์ของ ภาณุ ตรัย เขียนถึง ชลเทพ อมรตระกูล