เรื่องสั้น นกเขาไฟ : ความเชื่อเรื่องนกเขาไฟกับความคิดของคนในสังคมไทย


            รวมเรื่องสั้น ก่อกองทราย ของไพฑูรย์ ธัญญา เป็นหนังสือที่รวมเรื่องสั้น 12 เรื่อง ได้แก่ คนบนสะพาน, คนต่อนก, เพื่อนบุญ, คือชีวิต...และเลือดเนื้อ, ผู้ประทุษร้าย, อุบาทว์, คำพยากรณ์, เรือปลาเที่ยวสุดท้าย, นกเขาไฟ, ความตกต่ำ, ก่องกองทราย และบ้านใกล้เรือนเคียง ซึ่งได้รับรางวัลซีไรต์ ปี 2530
            เรื่องสั้น “นกเขาไฟ” หนึ่งในเรื่องสั้น 12 เรื่อง ของหนังสือรวมเรื่องสั้น ก่อกองทราย เป็นเรื่องราวของ คุณครูสอนวิทยาศาสตร์ ที่เลี้ยงนกเขาไฟ ในขณะที่เขาเลี้ยงนกเขาไฟอยู่นั้น ก็เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น และความกดดัดที่หลายคนมักจะบอกให้เขาปล่อยนกเขาไฟไปเพราะเชื่อว่าการที่นกเขาไฟอยู่ในบ้านจะทำให้เจอแต่เรื่องไม่ดี จึงทำให้เขาต้องตัดสินใจปล่อยนกเขาไฟไป ซึ่งผู้เล่าเรื่องนี้คือ คุณครูสอนวิทยาศาสตร์
            สิ่งที่แสดงเห็นได้เด่นชัดของเรื่อง นกเขาไฟ คือเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับนกเขาไฟ ว่าหากผู้ใดนำนกเขาไฟมาเลี้ยงหรือนำเข้าบ้านจะเจอแต่เหตุการณ์ร้ายแรง และถ้าผู้ใดฆ่านกเขาไฟ ผู้นั้นจะต้องตายโหงตามนกไป เพราะคำว่า “ไฟ” ของนกเขาไฟ ในเรื่องนี้ถูกตีความว่าเป็นคำที่ไม่ดี จะนำเรื่องร้ายแรงมาให้
             “ก็จะอะไรเสียอีกล่ะ... ลูกชายตัวดีของแกนั่นแหละ มันเอานกเขาไฟมาไว้ในบ้านหลังนี้ มันกำลังทำให้แกฉิบหายรู้รึเปล่า... นกเขาไฟนะเขาให้เลี้ยงกันเสียเมื่อไหร่ มันเป็นตัวอุบาทว์ จังไรนะรู้ไว้ ใครเอาเข้ามาไว้ในบ้านรังแต่จะวิบัติฉิบหาย ชื่อมันก็บอกอยู่แล้ว มันไฟชัด ๆ แกรู้มั้ย” ลุงชี้แจงอย่างฉุนเคือง
(ไพฑูรย์ ธัญญา, 2542 : 136)
            ข้อความดังกล่าว ทำให้ผู้วิจารณ์คิดว่า คนไทยสมัยก่อนนั้นให้ความสำคัญกับ “ชื่อ” เป็นอย่างมากชื่อไหนที่ใช้คำที่ดูรุนแรงหรือใช้คำที่สื่อไปในทางไม่ดี ก็มักจะให้คำนิยามว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งผู้วิจารณ์คิดว่านั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การคิดแบบนั้นก็ไม่ต่างกับการมองคนที่ภายนอก แล้วก็ตัดสินว่าดีไม่ดีด้วยความรู้สึกของตน การที่ลุง แม่ และมาลัย เชื่อว่านกเขาไฟเป็นสิ่งที่ทำให้ หมูที่เลี้ยงไว้ตาย และมาลัย แฟนของเขาต้องป่วยหนัก นั้นเหมือนเป็นการโยนความผิดให้นกเขาไฟ โดยที่ไม่คิดที่จะหาสาเหตุของเรื่องไม่ดีที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้เขียนได้เขียนให้เหตุการณ์ร้ายแรงต่าง ๆ เกิดในช่วงที่เขาเลี้ยงนกเขาไฟ เหมือนเป็นเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนมักจะมองหาสิ่งที่จะโยนความผิดให้มากกว่าจะโทษตัวเองหรือหาสาเหตุจริง ๆ ของสิ่งที่เกิดขึ้น
            การที่คนสมัยก่อนตั้งชื่อให้กับนกชนิดนี้ว่า “นกเขาไฟ” นั้นเจตนาในการตั้งชื่อนี้อาจจะหมายถึงสีของขนนกเหมือนไฟ พอการเวลาผ่านไปเรื่องราวของชื่อนกเขาไฟก็ผิดแปลกไป คนรุ่นต่อ ๆ มาก็ตีความหมายของนกเขาไฟใหม่และสร้างความเชื่อแบบผิด ๆ ให้กับนกเขาไฟว่าเป็นชื่อที่ไม่เป็นมงคล และเป็นสิ่งไม่ดีต้องหลีกเลี่ยง เพียงเพราะมีคำว่า “ไฟ” อยู่ในชื่อทำให้ความเชื่อนี้ก็ถูกส่งต่อมาในคนรุ่นต่อ ๆ ไปอีก และก็อาจจะมีเรื่องราวที่เกี่ยวกับนกเขาไฟเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ ทั้งในทางที่อาจจะดีหรือไม่ดีก็ได้

            การโยนความผิดให้กับสิ่ง ๆ หนึ่งที่กล่าวมาในก่อนหน้านี้ เป็นการกระทำที่เรียกกว่า กลไกลการป้องกันตัวเอง ของมนุษย์ เพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกผิดกับเรื่องที่เกิดขึ้นหรือสิ่งที่ตนกระทำผิด ทำให้ตัวเองกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ทำให้ตนเองเกิดความสบายใจ และเป็นการที่ผู้ที่มีอำนาจมากว่าโยนความผิดให้กับผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่า  ซึ่งในเรื่องนกเขาไฟ การที่แม่และลุงของเขากล่าวโทษว่าเป็นเพราะนกเขาไฟ ที่ทำให้หมูที่เลี้ยงไว้ตาย และเป็นเพราะนกเขาไฟ ทำให้มาลัยต้องป่วยหนัก ผู้วิจารณ์คิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลเลย การที่หมูตาย และการที่มาลัยป่วย ก็อาจจะเป็นเพราะโรคภัยไข้เจ็บมากกว่า โดยเฉพาะในสมัยก่อนความรู้ทางการแพทย์ยังไม่ก้าวหน้าหรือทันสมัยมากนักทำให้อาจจะไม่รู้สาเหตุของเรื่องที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ในชนบทต่างจังหวัด และไม่น่าจะเกี่ยวกับนกเขาไฟ และทำให้เห็นว่าคนมีอำนาจเหนือกว่านกเขาไฟ
            ซึ่งจากความคิดดังกล่าวทำให้ผู้วิจารณ์เกิดความคิดว่า การที่เรามองเห็นหรือมองหาความผิดของคนอื่นนั้น เป็นเรื่องง่ายกว่าการมองเห็นหรือมองหาความผิดของตนเอง ตัวอย่างเช่น เรามองผู้หญิงคนหนึ่งที่เขาเป็นแฟนใหม่ของแฟนเก่าเรา สิ่งที่เรามองคือเราพยายามมองหาข้อผิดพลาดของผู้หญิงคนนั้น หรือสิ่งที่ผู้หญิงคนนั้นด้อยกว่าเรา แต่เราจะไม่มองว่าเรานั้นด้อยกว่าหรือมีสิ่งไหนที่ไม่ดีต่างกับผู้หญิงคนนั้น และเราจะพยายามยกย่องตัวเองให้ดูสูงส่งและดีกว่าผู้หญิงคนนั้น เป็นต้น
            การนำเรื่องบังเอิญที่พบเจอหรือพบเห็นกับความเชื่อที่เคยได้ยินมารวมกันนั้นจะพบมากในหลาย ๆ ความเชื่อของคนในสังคมไทย ตัวอย่างเช่น ความเชื่อเรื่องของนกแสก ที่ถ้าเกิดไปเกาะอยู่แถวบ้านใครก็ตาม บ้านหลังนั้นจะมีคนตาย ซึ่งผู้วิจารณ์คิดว่า ความตายกับนกแสก เป็นคนละเรื่องกัน นกจะสามารถนำพาความตายมาสู่คนนั้นดูจะเป็นเรื่องหน้าเหลือเชื่อและดูไม่มีหลักการหรือสิ่งที่จะสามารถพิสูจน์ได้ว่ามันจริงหรือไม่ และนกแสกก็จะถูกมองว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายที่จะนำพาความหายนะมาให้ผู้คนที่พบเจอ 
            นอกจากนี้ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความคิดของคนไทย ที่ขาดการพัฒนา คือขาดการคิดวิเคราะห์อย่างรอบคอบ หรือขาดการคิดแบบวิทยาศาสตร์ ใช้เพียงแค่การมองและสันนิฐาน และเลือกที่จะฟังแค่สิ่งที่ตนอยากจะเชื่อเท่านั้นและก็สรุปออกมา โดยไม่มีการทดลอง หรือพิสูจน์หาความจริง การที่เขาเลี้ยงนกเขาไฟ และเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นนั้นอาจจะเป็นแค่ความบังเอิญ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอด ต่อให้เขาไม่เลี้ยงนกเขาไฟ เหตุการณ์ร้ายแรงก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้
            “แกเอามันไปปล่อยเดี๋ยวนี้เลย... ปล่อยมันไป แต่อย่าไปฆ่าแกงมันเป็นอันขาด เขาห้าม ใครขืนฆ่านกที่เขาว่ามันจะตายโหงตามนกไปด้วย” ลุงกำชับอีกครั้งก่อนจะจากไปด้วยความโมโห
            “เชื่อลุงเขาเถอะลูก... เอาไปปล่อยเสีย ลุงเขาเลี้ยงนกมานานแล้วเขารู้ดี” แม่อ้อนวอนกับผม
(ไพฑูรย์ ธัญญา, 2542 : 137)
            จากข้อความดังกล่าว เป็นการเน้นย้ำได้อีกว่าความคิดของคนไทย ทั้งลุงและแม่ของเขา นั้นขาดการคิดและไตร่ตรองให้รอบคอบ เพราะการที่ลุงพูดว่า “เขาห้าม” เป็นการสื่อให้เห็นว่าในที่จริง ๆ แล้วผู้เป็นลุงไม่ได้รู้เรื่องเกี่ยวกับนกเขาไฟจริง ๆ แต่ที่รู้ก็เพราะอาจจะไปได้ยินคนพูดอื่นมาอีกที่ หรืออาจจะสร้างเรื่องราวของนกเขาไฟขึ้นมาเองเพื่อแสดงอำนาจของผู้ใหญ่ที่แก่กว่าและมีความรู้มากกว่า ซึ่งผู้เป็นแม่ ก็ตกอยู่ในอำนาจของลุง และเชื่อโดยไม่คิดไตรตรองให้ดี เชื่อเพียงเพราะลุงเคยเลี้ยงนกมาก่อน และแม่ก็เป็นภาพสะท้อนอย่างดีของคนไทยที่ขาดการพัฒนาทางความคิด
            ผู้วิจารณ์คิดว่า คำว่า “เขาว่า หรือ เขาห้าม” มักจะถูกใช้เมื่อต้องการอ้างถึง ถือกล่าวถึงเพื่อให้สิ่งที่เราพูดนั้นเป็นเรื่องจริงที่สามารถเชื่อถือได้ ซึ่งเรื่องที่เราพูดอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ และ “เขา” หมายถึงบุคคลที่ 3 ที่มักจะถูกอ้างอิงขึ้นมาลอย ๆ ไม่มีที่มาที่ไป ไม่ทราบว่าเป็นใครกันแน่ จากการสังเกตเวลาที่คนเราจะพูดถึงสิ่งที่เกี่ยวกับความเชื่อ มักจะขึ้นประโยคที่ว่า “เขาว่ากันว่า...”  หรือ “โบราณเขาว่า...” ซึ่งเมื่อถามว่าใครเป็นคนพูดก็ไม่สามารถหาคำตอบได้ เพียงแต่เรื่องที่เล่าต่อ ๆ กันมาก การเล่าถือว่าไม่เป็นหลักฐานที่หน้าเชื่อถือมากพอ เพราะพูดเล่าสามารถเติมแต่งเรื่องที่เล่าได้ ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ
            คุณครูสอนวิทยาศาสตร์ เป็นตัวละครตัวเดียวที่ตั้งคำถามกับเรื่องของความเชื่อเรื่องนกเขาไฟ ตั้งแต่ตนจนจบ เป็นตัวละครที่แสดงให้เห็นถึงความคิดที่พัฒนาแล้วของคนในสังคมไทย ไม่เลือกที่จะเชื่ออะไรง่าย ๆ โดยไม่มีการพิสูจน์ ซึ่งเขามีวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ คือ รู้จักตั้งคำถาม มองหาเหตุและผล พิสูจน์ให้เห็นหรือให้รู้ด้วยตนเอง ซึ่งผู้วิจารณ์คิดว่าการที่เขาเป็นตัวละครตัวเดียว ที่ไม่เลือกที่จะเชื่อในคำพูดของลุงนั้น เปรียบเหมือนคนส่วนน้อยในสังคมไทย ที่มีความคิดพัฒนาแล้ว แต่ลุง แม่ และมาลัย เปรียบเหมือนคนส่วนใหญ่ที่ยังคงมีความคิดที่ยังไม่พัฒนา เพราะเลือกที่จะเชื่อโดยไม่คิดให้รอบคอบ
            ซึ่งเรื่องนี้เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวทางความคิดของคนในสังคมไทยส่วนใหญ่ ที่ยังไม่ได้รับการศึกษาที่ดีพอ และขาดการพัฒนาด้วยตนเอง โดยเฉพาะในสังคมชนบทหรือต่างจังหวัด ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน และถ้าผู้คนในสังคมยังคงเป็นเช่นนี้อยู่ประเทศไทยก็ยังคงจะเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ไม่จบไม่สิ้น
            โดยอำนาจของลุงที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ สามารถควบคุมความคิดของแม่ และมาลัยได้  โดยไม่รู้ตัวและไม่มีการขัดขืนต่ออำนาจนี้แต่อย่างใด คือยอมเชื่อฟังแต่โดยดี ไม่มีการตั้งคำถามหรือคิดวิเคราะห์และคิดหาเหตุผลด้วยตนเอง ต่างกับตัวละครอย่าง คุณครูสอนวิทยาศาสตร์ ที่มักจะตั้งคำถามกับสิ่งที่ได้ยินหรือได้พบเห็น ไม่เลือกที่จะเชื่อโดยไม่ได้พิสูจน์เสียก่อน ซึ่งตัวเขาไม่ชอบลุงเท่าไรเนื่องจากตอนเด็กเขาถูกลุงแกล้งอยู่บ่อยครั้งทำให้เขาเกิดความไม่ไว้ว่างใจในตัวลุง และพยายามตั้งแหง่กับลุง พยายามที่จะเอาชนะลุง ในตอนท้ายของเรื่อง เขาได้แสดงให้เห็นว่าเหมือนเขาจะพ่ายแพ้ต่ออำนาจของลุง โดยการนำนกเขาไฟไปปล่อยตามคำพูดของลุง
            “หวังว่าแกคงไม่ฆ่ามันเป็นการประชดนะ” ลุงทิ้งคำพูดใส่ผมพร้อมกับหัวเราะอย่างผู้กำชัยชนะ ผมเกลียดลุง... ผมเกลียดสายตาเยาะหยันของลุง แกมองดูเหมือนว่าผมเป็นผู้แพ้...
(ไพฑูรย์ ธัญญา, 2542 : 142)
            จากข้อความดังกล่าวแม้เขาจะพายแพ้ให้กับอำนาจของลุง แต่เขาไม่ได้แพ้ทั้งหมด เพราะเรื่องกับหักมุมคือเขาไม่ได้นำนกเขาไฟไปปล่อย แต่นำไม่ฆ่าและเอามาทำเป็นอาหารให้ลุงกิน โดยที่ไม่มีใครรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้นอกจากตัวเขา ผู้วิจารณ์คิดว่าการแก้แค้นเล็ก ๆ น้อย ๆ ครั้งนี้ของเขาเป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจของตัวละคร และเป็นการพิสูจน์เกี่ยวกับความเชื่อที่ว่า หากฆ่านกเขาไฟจะทำให้ตายโหง นอกจากนี้ยังเป็นการทดลองต่อไปอีกว่า ถ้าคนที่ฆ่านกเขาไฟจะต้องตายโหง แล้วคนที่กินนกเขาไฟจะเป็นเช่นไร 
            เรื่องเกี่ยวกับความฝันของคุณครู ที่ฝันเห็นนกยักษ์ที่ตัวใหญ่มาก ๆ และมีขาที่ใหญ่มากเหมือนเสาโบสถ์ ซึ่งทุกครั้งที่เขาฝันเห็นนกยักษ์ก็มักจะเกิดเหตุการณ์ที่ร้ายแรงขึ้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องเกี่ยวกับ ความฝันเป็นลางบอกเหตุ เป็นความเชื่อที่อยู่ในสังคมไทยมาช้านาน โดยจะมีทั้งที่เป็นไปในทางที่ดีและไม่ดี ตัวอย่างเช่น การฝันเห็นงูมารัด หมายถึงกำลังจะเจอเนื้อคู่ เป็นต้น และการที่เขาเปรียบขาของนกยักษ์กับเสาโบสถ์ เป็นการสื่อถึงศาสนาพุทธ ที่เป็นที่ยึดเหนียวจิตใจของเขายามเดือดเนื้อร้อนใจ หรือมีความทุกข์ ซึ่งในตอนที่เขาทะเลาะกับแม่เรื่องนกเขาไฟ เขาก็หนีไปสงบจิตในภายในโบสถ์ เพราะคนไทยส่วนใหญ่มีความเชื่อที่ว่าวัดคือที่ ๆ ทำให้เรารู้สึกสงบได้ ในยามที่มีเรื่องไม่สบายใจ
            การพยายามที่จะทำหน้าที่เป็นผู้นำครอบครัวของเขานั้น โดยแสดงออกให้เห็นผ่านทางความฝันของเขาที่พยายามช่วยแม่ไม่ให้หวาดกลัวนกยักษ์ ซึ่งผู้วิจารณ์คิดว่าในความเป็นจริงแล้วตัวละครอย่างคุณครูเป็นเพียงตัวละครที่ตกอยู่ในอำนาจของ ลุง และแม่ ที่ถึงแม้จะขัดขืนหรือต่อต้านก็ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ และเพราะในโลกของความเป็นจริงเขาไม่สามารถทำได้จึงทำให้เขาเก็บเรื่องนี้เอาไว้ในใจและแสดงออกผ่านทางความฝันแทน
            นอกจากนี้ความขาดหวังของเขาที่มีต่อมาลัย คือเขาหวังว่ามาลัยจะเป็นผู้หญิงที่เข้าใจเขามากที่สุด และเป็นผู้หญิงที่มีเมตตารักสัตว์ ซึ่งเป็นสะท้อนให้เห็นถึงความคิดของผู้ชาย ที่ต้องการให้ผู้หญิงเป็นคนที่มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น มีเมตตา รักสัตว์ ถือว่าเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งว่าการเป็นผู้หญิงไทยต้องมีลักษณะอุปนิสัยอย่างไร และอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจในเรื่องนี้คือวิธีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมชนบท ที่มีธรรมชาติที่สวยงาม และมีการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยความลำบาก แม้ตัวละครอย่างคุณครู จะเป็นข้าราชการแต่ก็ยังคงมีชีวิตที่ยากลำบาก 
            จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของเรื่อง นกเขาไฟ คือความยึดมั่นทางความคิดของตัวละคร ตัวอย่างเช่น คุณครูสอนวิทยาศาสตร์ ที่ยึดมั่นในหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งหาได้ยากในสังคมไทย ถึงแม้ว่าจะมีเรื่องราวที่ร้ายแรงเกิดขึ้น และความฝันที่เขาฝันเห็นนกยักษ์ แต่เขาก็ยังคงไม่เชื่อในสิ่งที่ลุง แม่ และมาลัยพูดว่าเป็นเพราะนกเขาไฟที่ทำให้เกิดเรื่องต่าง ๆ ขึ้น และการที่เข้ายึดมั่นในการที่จะเลี้ยงนกเขาไฟในตอนแรก ๆ นั้นเป็นเพราะเขารู้สึกผิดที่เป็นต้นเหตุทำให้ลูกนกเขาไฟ ต้องจากแม่ของมันมา และเพราะกลัวว่าถ้าปล่อยไปลูกนกอาจจะตายได้จึงได้นำมาเลี้ยงไว้ แม้ว่าเขาจะดูเหมือนสบสันทางความคิดอยู่บ้าง และความรักของเขาที่มีต่อแม่และมาลัย เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอยู่ตลอดทั้งเรื่อง แม้ความจะมีความคิดเห็นไม่ตรงกันแต่ก็ยังคงดูแลและคอยเป็นห่วงเป็นใย สาเหตุที่ทำให้เขาฆ่านกเขาไฟก็เพราะทำเพื่อความสบายใจของแม่ ที่คอยรบเร้าให้เขานำนกขาไฟไปปล่อยอยู่ตลอดเวลาจนทำให้ทะเลาะกันหลายครั้ง สุดท้ายเขาก็ยังคงอยู่กับแม่ตลอด
            ซึ่งการเขียนให้ตัวละครทุกตัวเป็นตัวละครแบน คือมีลักษณะอุปนิสัยเดิมตั้งแต่ต้นจนจบ ตัวอย่างเช่น แม่เชื่อในเรื่องที่ลุงเล่าว่านกเขาไฟเป็นสิ่งที่ทำให้หมูตาย และแม่ก็ยังคงเชื่ออยู่อย่างนั้นตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบเรื่อง  นั้นทำให้เรื่องราวไม่น่าสนใจเท่าไรเพราะสามารถเดาเนื้อเรื่องได้ง่าย และทำให้ตัวละครในเรื่องนั้นขาดสีสัน น่าเบื่อ
            ดังนั้นความเชื่อเรื่องนกเขาไฟเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิดของคนในสังคมไทย ที่ยังขาดการพัฒนาทางความคิด และขาดการคิดแบบวิทยาศาสตร์ ทำให้เมื่อพบเหตุการณ์ที่เลวร้ายผู้คนก็จะพยายามโยนความผิดให้กับผู้อื่น หรือสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเรื่องนี้เมื่อผู้เป็นแม่พบเรื่องเลวร้ายก็โยนความผิดให้กับนกเขาไฟ ที่เป็นเพียงสัตว์ชนิดหนึ่งที่ไม่รู้เรื่องราวอะไร เพียงเพราะว่าชื่อของมันมีคำว่า “ไฟ” ตามคำบอกเล่าของลุง โดยที่ไม่คิดที่จะสืบหาความจริงว่าเป็นเพราะอะไร และแม่กับมาลัยก็เป็นภาพสะท้อนอย่างดีของคนไทยที่ขาดการพัฒนาทางความคิดของคนชนบทหรือคนต่างจังหวัด นอกจากนี้ความน่าเบื่อของเรื่องนี้อยู่ที่การที่ตัวละครทุกตัวมีลักษณะแบน ทำให้สามารถขาดเดาเรื่องได้ง่ายเกินไป และผู้วิจารณ์คิดว่าหากเปลี่ยนให้ตัวละครบางตัวหรือเพิ่มตัวละครให้มีลักษณะกลม ก็จะเป็นการเพิ่มสีสันให้กับเรื่องมากขึ้น

 


เอกสารอ้างอิง
ไพฑูรย์ ธัญญา. 2542. ก่อกองทราย. พิมพ์ครั้งที่ 28. ปทุมธานี : นาคร 

ความคิดเห็น

  1. เก็บมาเลี้ยงตัวนึงเอาบุญ นกมันโดนรถเหยียบไม่ตายไม่น่าจะเกี่ยวกันน่ะ ตั้งชื่อให้..ว่า..มารวย เหมือนต้นลั่นทมเมื่อก่อนมีใครบ้านไหนปลูกกันบ้าง เดี๋ยวนี้ปลูกแทบทุกบ้าน นกเขาไฟมองในอีกมุมนึงไฟคืออะไรในความหมายคือแสงสว่างที่ทำให้มองเห็นความมืดไง ไฟที่นำความสว่างและเจริญรุ่งเรืองไง..จบน่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ใช่ๆ ้ราก็เอามาเลี้ยงไว้ เพราะยังบินไม่แข็ง เขาตกลงมาจากหลังคาโรงงาน จะปล่อยไปก๋ตายแน่ๆ เลยเอามาเลี้ยงเอาบุญ คิดดี ทำดีก็พอ

      ลบ
  2. ไฟดัับบ่นกันชิบหาย ดีขนาดไหนแล้วมีนกเขาไฟ5555

    ตอบลบ
  3. ผมก็เจอนกเขาไฟมันปีกหักเห็นแล้วสงสารก็พาเจาไปหาหมอ หมอบอกว่าปีกหักเลยเข้าเฝือกแต่ไม่หายอาจจะบินไม่ได้ตลอดชีวิต ผมเลยต้องเลี้ยงเขา จะตั้งชื่อว่า พรมลิขิต ครับ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์วรรณคดีบทละครนอก เรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต

บทวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ จาก มีดประจำตัว สู่ น้องเมย์ไปงานเลี้ยงปีใหม่ : สัมพันธภาพสะท้อนสังคมของ “มีด” และ “ใบหน้า” ของ ชลเทพ อมรตระกูล และบทวิจารณ์ของ ภาณุ ตรัย เขียนถึง ชลเทพ อมรตระกูล