บทวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ จาก มีดประจำตัว สู่ น้องเมย์ไปงานเลี้ยงปีใหม่ : สัมพันธภาพสะท้อนสังคมของ “มีด” และ “ใบหน้า” ของ ชลเทพ อมรตระกูล และบทวิจารณ์ของ ภาณุ ตรัย เขียนถึง ชลเทพ อมรตระกูล


            บทวิจารณ์ จาก มีดประจำตัว สู่ น้องเมย์ไปงานเลี้ยงปีใหม่ : สัมพันธภาพสะท้อนสังคมของ “มีด” และ “ใบหน้า” ของ ชลเทพ อมรตระกูล เป็นบทวิจารณ์ที่พยายามจะเขียนให้ เรื่องสั้น “มีดประจำตัว” ของ ชาติ กอบจิตติ กับ เป็นเหมือนกับต้นแบบของการเขียนเรื่องสั้น “น้องเมย์ไปงานเลี้ยงปีใหม่” ของ ภาณุ ตรัยเวช โดยใช้รูปแบบของวรรณกรรม และสัญญะ “มีด” กับ “ใบหน้า” เป็นตัวเชื่อมระหว่างสองเรื่องนี้ และนำเสนอเกี่ยวกับ การ “เล่น” กับความเป็นเรื่องแต่งของ เรื่องสั้น “มีดประจำตัว” กับ เรื่องสั้น “น้องเมย์ไปงานเลี้ยงปีใหม่” ที่เชื่อมโยงกันในฐานะ “วรรณกรรมแนวสร้างสรรค์”
            การเปิดเรื่องของบทวิจารณ์กล่าวถึง “วรรณกรรมแนวสัจนิยม” ที่มุ่งเน้นตีแผ่ความเลวร้ายในสังคมและสร้างจิตสำนึกให้ผู้อ่าน กล่าวคือเป็นวรรณกรรมแนวสะท้อนสังคม ซึ่ง ชลเทพ อมรตระกูล กล่าวว่า
            “รูปแบบวรรณกรรมดังกล่าวไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติใด ๆ เลย แต่กลับยิ่งตอกย้ำซ้ำเติมความเลวร้ายเหล่านั้นจนผู้อ่านชินชาด้วยเหตุเพราะเราอาจหลงลืมไปชั่วขณะว่าวรรณกรรมแนวใดหรือวัตถุประสงค์เพื่อสิ่งใด”
การจะกล่าวว่าผู้อ่านหลงลืมว่าวรรณกรรมแนวใดหรือวัตถุประสงค์ใดนั้น ผู้วิจารณ์คิดว่าบางครั้งการที่เราจะอ่านหนังสือสักเล่มก็อาจจะไม่จำเป็นจะต้องรู้ว่าหนังสือเล่มนั้นเป็นวรรณกรรมแนวใด หรือมีวัตถุประสงค์อะไร เพราะการอ่านวรรณกรรมบางครั้งเราอาจจะอ่านเพราะเราต้องการความบันเทิงบางอย่างจากหนังสือมากกว่าเราจะอ่านเพราะอยากรู้ว่าหนังสือเล่มนั้นเขียนเพื่ออะไร และเขียนตรงกับรูปแบบวรรณกรรมใด ซึ่งการอ่านเพื่อให้เข้าใจในวัตถุประสงค์ของหนังสือนั้นเราสามารถทำได้ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เรารู้ตรงกับสิ่งที่ผู้เขียนต้องการให้เรารู้ เพราะฉะนั้นการอ่านเพื่อให้ได้อะไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่าต้องการอ่านเพื่ออะไรหรือมีวัตถุประสงค์อะไรในการอ่าน และการกล่าวว่า
            “จึงมีผู้เสนอว่า เราอาจแก้ไขจุดอับของกระแสวรรณกรรมดังกล่าวด้วยการพลิกผันดัดแปลงรูปแบบการนำเสนอให้ต่างออกไป โดยใช้ธรรมชาติความเป็นเรื่องแต่งของวรรณกรรมให้เป็นประโยชน์มากกว่ายืนกรานที่จะถ่ายทอดสะท้อนความเป็นจริงเช่นเดิม”
            จากข้อความดังกล่าวผู้วิจารณ์เห็นด้วยว่า การแต่งวรรณกรรมนั้นบางครั้งก็อาจจะเขียนพลิกแพลง ดัดแปลงให้แตกต่างจากรูปแบบเดิม ๆ เพราะเป็นการทำวรรณกรรมนั้น ๆ มีความน่าสนใจมากขึ้น แต่การบอกว่า “ใช้ธรรมชาติความเป็นเรื่องแต่งของวรรณกรรมให้เป็นประโยชน์มากกว่ายืนกรานที่จะถ่ายทอดสะท้อนความเป็นจริงเช่นเดิม” นั้นผู้วิจารณ์คิดว่าการถ่ายทอดวรรณกรรมในรูปแบบเดิม ๆ นั้นก็มีเสน่ห์อยู่ในตัววรรณกรรมเช่นเดียวกัน ซึ่งการบอกแบบนั้นเหมือนเป็นการสื่อถึงนักเขียนว่าให้เลิกเขียนวรรณกรรมในรูปแบบเดิม ซึ่งผู้วิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้
            ชลเทพ ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ความโหดเหี้ยม” จากเรื่องสั้น “มีดประจำตัว” ว่า
            “ความโหดเหี้ยม” ที่เกิดขึ้นนี้แท้จริงเป็นวิธีการที่ “ไม่จำเป็น” เสมอไปหรือไม่? และมีเหตุผลใดที่ทำให้วิธีการดังกล่าวสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาสังคมได้แม้เพียงในระดับการสร้างจิตสำนึกก็ตาม?
จากคำถามข้างต้นผู้วิจารณ์คิดว่าการเขียนให้ผู้อ่านรู้สึกถึงปัญหาอะไรบางอย่างไม่จำเป็นต้องเขียนให้สื่อออกมาถึง “ความโหดเหี้ยม” เสมอไปเพราะผู้วิจารณ์คิดว่าเราสามารถสร้างจิตสำนึกผู้คนโดยใช้ความอ่อนโยนในการเขียนได้ แต่นั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของนักเขียน และคิดว่าการเขียนด้วยวิธีการที่ดู “โหดเหี้ยม” นั้นอาจจะไม่สามารถสร้างจิตสำนึกให้กับผู้อ่าน ตรงกันข้ามอาจจะทำให้คนที่อ่านรู้สึกว่าวิธีการนั้นดีและถูกต้องได้ ซึ่งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละบุคคล
            การที่ ชลเทพ อมรตระกูล นำเสนอเรื่อง “มีด” ใน “มีดประจำตัว” ของ ชาติ กอบจิตติ กับเรื่อง “ใบหน้า” ใน “น้องเมย์ไปงานเลี้ยงปีใหม่” ของ ภาณุ ตรัยเวช มาเชื่อมโยงและตีความว่าทั้งสองเรื่องนี้มีความสัมพันธ์กันในรูปแบบของสัญญะ ที่ชี้ให้เห็นถึงการแบ่งแยกผู้คนในสังคม ดังที่กล่าวว่า
             “ทั้งสองสิ่งนี้ต่างก็ชี้ให้เห็นถึงการแบ่งแยกของผู้คนในสังคมที่ทวีความเข้มข้นเสียจนสามารถทำให้มนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ ชีวิตจิตใจ และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี กลายเป็นอะไรบางอย่างที่แทบแยกไม่ออกจากวัตถุได้อย่างง่ายดาย”
 ผู้วิจารณ์คิดว่าการจะบอกว่า “มีด” ใน “มีดประจำตัว” เป็นการบอกถึงการแบ่งแยกผู้คนอย่างชัดเจนเหมือนกับที่ ชลเทพ ได้กล่าวไว้แต่ “ใบหน้า” ใน “น้องเมย์ไปงานเลี้ยงปีใหม่” ผู้วิจารณ์ไม่คิดว่าเป็นการแบ่งแยกผู้คน เพราะ “ใบหน้า” เป็นสัญญะของความชอบ ความพอใจ ส่วนบุคคลมากกว่าจะบอกว่าสิ่งนั้นเป็นสัญญะของการแบ่งแยกผู้คน และการดูถูกดูแคลนผู้คนนั้น ผู้วิจารณ์ไม่ได้มองว่าเป็นการแบ่งแยกชนชั้น เพราะคนที่อยู่ในชนชั้นเดียวกันหรืออยู่ในสถานะทางสังคมเหมือนกัน ก็สามารถดูถูกกันเองได้เหมือนกัน นอกจากนี้ผู้วิจารณ์คิดว่าการถูกดูแคลนผู้คน ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้ชนชั้นทางสังคมของผู้ที่พูดเปลี่ยนให้สูงขึ้นหรือต่ำลง เพราะฉะนั้นการวิเคราะห์ในเรื่องนี้ผู้วิจารณ์คิดว่าไม่สมเหตุสมผลเท่าที่ควร
             “การกระทำของเราได้ถูกผูกขาดด้วยวิธีอธิบายทางวิทยาศาสตร์ไปหมดสิ้น คำอธิบายอื่นใดที่ไม่เข้าข่ายวิทยาศาสตร์ เช่น คุณค่าความเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ ชีวิตจิตใจ และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ได้ถูกเบียดขับให้ตกไปเสีย”
             จากคำกล่าวข้างต้นผู้วิจารณ์คิดว่าเป็นเหมือนกับการดูถูกผู้คนด้วยกันเอง การบอกว่าคนที่มีความคิดแบบวิทยาศาสตร์จะหลงลืมความเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ มีชีวิตจิตใจ และความรู้สึกผิดชอบชั่วดีนั้นไม่เป็นความจริง เพราะยังไงมนุษย์ก็ยังคงเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะมีความคิดแบบไหน และความคิดของมนุษย์เป็นสิ่งที่ซับซ้อนอยากที่จะอธิบายในบางเรื่องวิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถหาคำตอบได้เหมือนกัน
            ดังนั้นบทวิจารณ์ จาก มีดประจำตัว สู่ น้องเมย์ไปงานเลี้ยงปีใหม่ : สัมพันธภาพสะท้อนสังคมของ “มีด” และ “ใบหน้า” ของ ชลเทพ อมรตระกูล การใช้รูปแบบของวรรณกรรม และสัญญะระหว่าง “มีด” ใน “มีดประจำตัว” กับ “ใบหน้า” ใน “น้องเมย์ไปงานเลี้ยงปีใหม่” เป็นตัวเชื่อมระหว่างสองเรื่องนี้ ผู้วิจารณ์คิดว่าในส่วนของรูปแบบวรรณกรรมของสองเรื่องนี้มีรูปแบบที่คล้ายกันและมีความเป็นไปได้ที่สองเรื่องนี้จะเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เพราะ “มีดประจำตัว” กับ “น้องเมย์ไปงานเลี้ยงปีใหม่” มีลักษณะรูปแบบการเขียนที่ออกแนวเหนือจริงและสร้างสรรค์แตกต่างกับแนวสัจนิยมที่เคยเป็นกระแสวรรณกรรมมาก่อน โดยทั้งสองเรื่องนี้มีเนื้อเรื่องที่ดูเกินจริงและน่ากลัว แต่แฝงไปด้วยการสะท้อนสังคมเหมือนกัน ในส่วนเรื่องของรูปแบบสัญญะที่เชื่อมโยงระหว่าง “มีด” กับ “ใบหน้า” ผู้วิจารณ์ไม่เห็นด้วยและรู้สึกเหมือนผู้เขียนจะพยายามยัดเยียดความสัมพันธ์ในส่วนนี้ให้กับทั้งสองเรื่อง
            บทวิจารณ์ เขียนถึง จาก มีดประจำตัว สู่ น้องเมย์ไปงานเลี้ยงปีใหม่ : สัมพันธภาพสะท้อนสังคมของ “มีด” และ “ใบหน้า” ของ ชลเทพ อมรตระกูล โดย ภาณุ ตรัยเวช เป็นนักเขียน เขียนเรื่องสั้น “น้องเมย์ไปงานเลี้ยงปีใหม่”
            ภาณุ ตรัยเวช อธิบายถึงความคิดของเขาว่า ได้รับแรงบันดารใจและจุดมุ่งหมายในการเขียนเรื่อง “น้องเมย์ไปงานเลี้ยงปีใหม่” มาจากการตั้งคำถามที่ว่า ถ้าโลกของเรามีเทคโนโลยีที่สามารถทำให้มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงร่างกายส่วนใดก็ได้จะเป็นเช่นไร และมีการอธิบายถึงความเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ของเรื่อง “น้องเมย์ไปงานเลี้ยงปีใหม่” ว่าในความคิดของ ภาณุ นั้นจัดอยู่ในหมวดหมู่ utopia คือนิยายวิทยาศาสตร์ที่วาดภาพโลกอนาคตที่สวยงาม ซึ่งผู้วิจารณ์คิดว่าเรื่อง “น้องเมย์ไปงานเลี้ยงปีใหม่” จะเป็นแนว dystopia คือ นิยายวิทยาศาสตร์ที่วาดภาพโลกอนาคตอันหดหู่และดูโหดร้าย เพราะด้วยการบรรยายของตัวเนื้อเรื่องทำให้เมื่ออ่านแล้วจิตนาการถึงภาพที่ดูน่ากลัว สยดสยอง ถึงแม้จะไม่ได้บรรยายถึงความเจ็บปวดของตัวละครก็ตาม
            นอกจากนี้ยังเขียนตั้งคำถามให้กับผู้อ่าน เกี่ยวกับโลกของ “น้องเมย์” ถึงว่า อะไรคือภายใน อะไรคือภายนอก และอธิบายว่า สังคมมนุษย์ล้วนแล้วแต่จะหายภายนอกและภายใน และในโลกของ “น้องเมย์” ภาณุ ได้อธิบายว่า ผู้คนส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เชิดชู พูดถึงคุณค่าของ “ภายใน” ซึ่งผู้วิจารณ์มองว่าการเขียนบทวิจารณ์ชิ้นนี้ของ ภาณุ ตรัยเวช นั้นเหมือนเป็น การชี้โพรงให้กระรอก กล่าวคือเป็นการชี้ทางแนวทางการอ่านให้กับผู้ที่อ่านเรื่องสั้น “น้องเมย์ไปงานเลี้ยงปีใหม่” ว่าควรจะอ่านในแนวทางที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่มองโลกในมุมมองของการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาการการแพทย์ หรือเทคโนโลยีอวัยวะเทียม ซึ่งการทำแบบนี้เหมือนเป็นการจำกัดกรอบความคิดของผู้อ่านที่อ่านเรื่องนี้ ว่าควรอ่านแบบใดถึงจะตรงกับวัตถุประสงค์ของนักเขียน
            หากมองอีกแง่มุมหนึ่งก็เหมือนเป็นการสร้างทางเลือกในการอ่านอีกทางหนึ่งหากผู้อ่านอ่านเรื่อง “น้องเมย์ไปงานเลี้ยงปีใหม่” จบแล้วอย่าอ่านให้ได้หลาย ๆ แง่มุมซึ่งการอ่านก่อนหน้านี้อาจจะมองในมุมต่างกับที่นักเขียนเขียน การอ่านบทวิจารณ์ชิ้นนี้ก็อาจจะทำให้ผู้อ่านได้มุมมองในการอ่านเรื่อง “น้องเมย์ไปงานเลี้ยงปีใหม่” เพิ่มเติมจากความคิดเดิม
            การที่นักเขียนอย่าง ภาณุ ตรัยเวช ผู้ที่เขียน “น้องเมย์ไปงานเลี้ยงปีใหม่” เขียนวิจารณ์ตอบ ชลเทพ อมรตระกูล ผู้ที่เขียนวิจารณ์งานของตนนั้น ผู้วิจารณ์คิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะการที่นักเขียนเขียนโต้ตอบผู้วิจารณ์ที่วิจารณ์งานของตนนั้น ไม่ว่าจะเขียนไปในแนวทางชื่นชมที่ผู้วิจารณ์ว่าเข้าใจในวัตถุประสงค์ของนักเขียน หรือเขียนไปในแนวทางโต้แย้งกับผู้ที่วิจารณ์ที่ไม่เข้าใจในจุดประสงค์ของนักเขียนนั้นถือว่าไม่เหมาะสมโดยเฉพาะการเขียนในแนวทางโต้แย้ง เพราะเหมือนเป็นการขัดขวางความคิดของผู้อ่านหรือผู้วิจารณ์ ที่จะสร้างมุมมองใหม่ ๆ ในการอ่านหนังสือเล่มนั้น ๆ อีกในหนึ่งการเขียนโต้แย้งของนักเขียนต่อผู้วิจารณ์นั้น เป็นการแสดงถึงการไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
            ผู้วิจารณ์คิดว่าการที่นักเขียนเขียนงานออกมาให้ผู้อื่นอ่านนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงว่า เมื่องานเขียนถูกแสดงออกต่อที่สาธารณะแล้วผู้ที่ได้อ่านงานเขียนย่อมมีสิทธิ์ที่จะมีความคิดแตกต่างจากนักเขียนที่เขียนงานขึ้นมา หรือมีสิทธิ์ที่จะวิจารณ์งานเขียนได้ เพราะถือว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือมุมมองของผู้ที่ได้อ่านงานเขียนชิ้นนั้น ๆ และนักเขียนก็ควรที่จะรับฟังและยอมรับในความคิดเห็นของผู้อื่น
            ซึ่งการที่ ภาณุ ได้เขียนตอบโต้ ชลเทพ นั้นเป็นการโต้ตอบไปในทางที่แสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์การเขียนเรื่อง “น้องเมย์ไปงานเลี้ยงปีใหม่” ซึ่งเป็นมุมมองที่แตกต่างกับที่ ชลเทพ มองในเรื่องนี้แต่ก็ไม่ได้เขียนว่ากล่าว ชลเทพ ที่มองจุดประสงค์ของการเขียนเรื่องนี้แตกต่างจากตนแต่อย่างใด แต่เหมือนเป็นการเขียนเฉลยคำตอบของเรื่องสั้น “น้องเมย์ไปงานเลี้ยงปีใหม่” ว่าเรื่องนี้ต้องการสื่อถึงเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในอนาคต ไม่ได้มองในมุมของการแบ่งแยกชนชั้น ประเด็นทางสังคม หรือการได้แรงบันดารใจจากการเรื่อง “มีดประจำตัว” แบบที่ ชลเทพ มอง ซึ่งการเขียนออกมาเขียนบทวิจารณ์ของ ภาณุ ในครั้งนี้ เป็นเหมือนการตัดหนทางการอ่านให้กับผู้ที่ยังไม่ได้เรื่องสั้น “น้องเมย์ไปงานเลี้ยงปีใหม่” ถ้าเกิดว่าผู้ที่จะอ่านเรื่อง “น้องเมย์ไปงานเลี้ยงปีใหม่” ได้อ่านบทวิจารณ์ชิ้นนี้ก่อน เพราะนักเขียนได้ออกมาชี้ทางการอ่านให้กับผู้อ่านที่จะอ่านเรียบร้อยแล้วนั้นเอง

 


อ้างอิง
อ่าน คิด เขียน : รวมบทวิจารณ์วรรณกรรมของนักเรียนวรรณกรรม 2. (2560). กรุงเทพฯ :
                จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย             

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เรื่องสั้น นกเขาไฟ : ความเชื่อเรื่องนกเขาไฟกับความคิดของคนในสังคมไทย

วิจารณ์วรรณคดีบทละครนอก เรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต