วิจารณ์วรรณคดีบทละครนอก เรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต

             วิจารณ์วรรณคดีบทละครนอก เรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต

            บทละครนอก เรื่องสังข์ทอง เป็นบทพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีทั้งหมด 9 ตอน ได้แก่ กำเนิดพระสังข์ ถ่วงพระสังข์ นางพันธุรัตเลี้ยงพระสังข์ พระสังข์หนีนางพันธุรัต ท้าวสามนต์ให้นางทั้งเจ็ดเลือกคู่ พระสังข์ได้นางรจนา ท้าวสามนต์ให้ลูกเขยหาปลาหาเนื้อ พระสังข์ตีคลี และท้าวยศวิมลตามพระสังข์
            เนื้อหาของเรื่องสังข์ทองเป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่เด็กคนหนึ่งเกิดมาพร้อมกับหอยสังข์และต้องพบเจอกับภัยอันตรายมากมาย แต่เพราะว่ามีบุญญาบารมี จึงรอดปรอดภัยมาได้ สิ่งที่ผู้วิจารณ์สนใจในเรื่องสังข์ทอง คือการที่สังข์ทองถูกพญานาคส่งไปให้นางพันธุรัตซึ่งเป็นยักษ์หม้ายเลี้ยงดู โดยนางแปลงร่างเป็นหญิงงามและเลี้ยงดูพระสังข์อย่างดีตามใจทุกอย่างดังลูกแท้ ๆ ของนาง วันหนึ่งพระสังข์ได้รู้ความจริงเรื่องที่นางพันธุรัตเป็นยักษ์ จึงคิดหนี้เพื่อไปตามหาแม่แท้ ๆ ของตน และสังข์ทองได้ขโมยรูปเงาะ เกือกทอง ไม้พลอง และหนีออกจากวังไป ทำให้นางพันธุรัตออกไปตามพระสังข์เพื่อขอให้กลับมาแต่สุดท้ายแล้วพระสังข์ก็ไม่ยอมกับทำให้นางพันธุรัตเขียนมหาจินดามนตร์ให้และอกแตกในที่สุด ทำให้ผู้วิจารณ์เกิดคำถามว่าการกระทำของสังข์ทองนั้น ถือว่าเป็นการเนรคุณนางพันธุรัตหรือไม่ นอกจากนี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักของนางพันธุรัตต่อสังข์ทองในสถานะของแม่เลี้ยง
            บทละครนอก เรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต นั้นรูปแบบคำประพันเป็นแบบกลอนสุภาพ มีการใช้คำศัพท์ทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจง่าย โดยกวีกำหนดให้ตนเป็นผู้พูดบรรยายบุรุษที่ 3 ซึ่งจะไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึก แต่เป็นเพียงผู้เล่าเรื่อง กล่าวคือเป็นเพียงผู้บรรยายให้เห็นภาพว่าใครกำลังทำอะไรและมีรูปร่างลักษณะ อุปนิสัยอย่างไร และตัวละครกำลังรู้สึกอย่างไร นอกจากนี้ก็ยังมีส่วนที่เป็นบทพูดของตัวละครที่บางครั้งก็สอดแทรกร่วมกับการบรรยายของผู้พูดบรรยาย
            หากพิจารณาบทละคร เรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต ด้วยทฤษฎีรสทั้ง 9 นั้นจะเห็นได้ว่า มีปรากฏรสดังนี้ ศฤงคารรส คือการรับรู้ความรักของตัวละคร ตัวอย่างเช่น การแสดงให้เห็นถึงความรักของพระสังข์ที่มีต่อนางพันธุรัตผู้เป็นแม่ แต่เพราะความจำเป็นต้องออกไปตามหาแม่แท้ ๆ จึงต้องหนีไป

                        ๏ โอ้อนิจจามารดาเลี้ยง          เคยถนอมกล่อมเกลี้ยงรักใคร่
                แสนสนิทพิศวาสดังดวงใจ                 มิให้ลูกยาอนาทร
                พระคุณล้ำลบจบดินแดน                  ยังมิได้ทดแทนพระคุณก่อน
                วันนี้จะพลัดพรากจากจร                  มารดรค่อยอยู่จงดี
                แม้นลูกไปไม่ม้วยมรณา                    จะกลับมากราบบาทบทศรี
                ร่ำพลางทางทรงโศกี                       อยู่ที่ปราสาทเพียงขาดใจ  
                                                                    (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย,2540: 119)
ภยานกรส คือ การรับรู้ความหวานกลัว น่ากลัว ตัวอย่างเช่น พวกพี่เลี้ยงเห็นนางพันธุรัตกลับมาหลังจาที่พระสังข์หนีไปทำให้พวกพี่เลี้ยงกลัวว่านางพันธุรัตจะฆ่าตี หลังจากเล่าเรื่องที่พระสังข์หายไป
                                ๏ บัดนั้น                  พวกพี่เลี้ยงนางนมน้อยใหญ่
                      เห็นนางยักษามาแต่ไพร            กลัวภัยภาวนาละล้าละลัง
                      แต่เขยื้อนขยับลับล่อ                เข้าไปแล้วให้ท้อถอยหลัง
                      จึงก้มเกล้าเล่าเหตุให้ฟัง             พระลูกน้อยหอยสังข์นั้นหายไป
                      ข้าเที่ยวค้นหานักหนาแล้ว          จะพบพระลูกแก้วก็หาไม่
                      เล่าพลางต่างคนก็ร่ำไร               ของชีวิตไว้อย่างฆ่าตี
                                                                    (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย,2540: 122)
เราทรรส คือ การรับรู้ความโกรธหรือการกระทำที่รุนแรงของตัวละคร ตัวอย่างเช่น หลังจากนางพันธุรัตรู้เรื่องเกี่ยวกับพระสังข์หายตัวไปจากพี่เลี้ยง ทำให้นางพันธุรัตโกรธมากแล้วว่ากล่าวพี่เลี้ยง
                              ๏ เมื่อนั้น                     นางพันธุรัตยักษี
               ได้ฟังดังจะสิ้นสมประดี                     เอออะไรกระนี้อีพี่เลี้ยง
               กูไว้ใจให้อยู่กับลูกรัก                       คอยพิทักษ์ถนอมกล่อมเกลี้ยง
               ช่างละให้หายไปจากวังเวียง               มันน่าเสี่ยงสับซ้ำให้หนำใจ
                                                                    (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย,2540: 122)
อัทภุตรส คือ การรับรู้ถึงความอัศจรรย์ ตัวอย่างเช่น ตอนที่พวกยักษ์เห็นพระสังข์แล้วเกิดความรู้สึกถึงความตะลึงในความงดงามของพระสังข์
                          เพ่งพิศดูพลางไม่ว่างตา             คิดว่าเทวาในไพรสนฑ์
                    ผิวพรรณผุดผาดประหลายคน            ให้งวยงงฉงนสนเท่ห์ใจ
                                                                    (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย,2540: 125)
กรุณารส คือ ความรู้สึกสงสาร การรับรู้ความทุกข์โศกของตัวละคร ตัวอย่างเช่น ตอนที่นางพันธุรัตพยายามเรียกให้พระสังข์ให้ลงมาหา และนางพันธุรัตทั้งร้องเรียกพระสังข์ทั้งร้องไห้เสียใจ
                                    ๏ เมื่อนั้น                 พันธุรัตขันสนเป็นนักหนา
                       แหงนดูลูกพลางทางโศกา             ดั่งหนึ่งว่าชีวันจะบรรลัย
                       โอ้ลูกน้อยหอยสังข์ของแม่เอ๋ย         กรรมสิ่งใดเลยมาซัดให้
                       จะร่ำร้องเรียกเจ้าสักเท่าไร            ก็ช่างเฉยเสียได้ไม่ดูดี
                                                                    (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย,2540: 128)
หาสยรส คือ การรับรู้ถึงความสนุก ขบขัน ตัวอย่างเช่น ตอนที่เด็ก ๆ ลูกของชาวบ้านเจอกับเงาะป่า และหยอกเล่นกับเจ้าเงาะอย่างสนุกสาน
                        รูปร่างหัวหูก็ดูแปลก                  ลางคนว่าแขกกะลาสี
                        อย่าไว้ใจมันมักควักเอาดี             นึกกลัวเต็มทีวิ่งหนีพลาง
                        บ้างว่าอ้ายนี่ลิงทะโมนใหญ่          บ้างเถียงว่าทำไมไม่มีหาง
                        หน้าตามันขันยิงฟันฟาง              หรือจะเป็นผีสางกลางนา
                        คนหนึ่งไม่กลัวยืนหัวเราะ             นี่เขาเรียกว่าเงาะแล้วสิหนา
                        มันไม่ทำใครดอกวา                    ชวนกันเมียงเข้ามาเอาดินทิ้ง
                        บ้างได้ดอกหงอนไก่เสียบไม้ล่อ        ตบมือผัดพ่อล่อให้วิ่ง
                        ครั้นเงาะแล่นไล่โลดกระโดนชิง       บ้างล้มกลิ้งวิ่งปะทะกันไปมา
                                                                    (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย,2540: 128)
            ดังนั้นรสที่ปรากฏในตอนนี้นั้นมีทั้งหมด 6 รส ได้แก่ ศฤงคารรส เราทรรส หาสยรส กรุณารส ภยารส และอัทภุตรส เป็นการแสดงให้ถึงว่า เรื่องสังข์ทองนั้นเป็นวรรณกรรมบันเทิงอย่างหนึ่ง แต่งเพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ต่าง ๆ ที่หลากหลาย โดยในตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต นั้นส่วนใหญ่จะเป็น กรุณารส เนื่องจากเป็นการอธิบายถึงนางพันธุรัตที่พยายามตามหาพระสังข์และอ้อนวอนให้พระสังข์ลงมาหาตน นอกจากนี้ยังทำให้เห็นถึงความรักของนางพันธุรัตที่มีต่อสังข์ทองให้สถานะของแม่ที่เลี้ยงดูมาอย่างดี ถึงกลับยอมแรกทุกอย่างขอเพียงได้กอดพระสังข์อีกสักครั้ง เพราะนางพันธุรัตรู้ดีว่าหากพระสังข์ไปแล้วนั้นก็อาจจะไม่กลับมาหาตนก็เป็นได้ ผู้แต่งได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามและความสิ้นหวังของนางพันธุรัตโดยผ่านบทสนทนาของนางพันธุรัต ตัวอย่างอยู่ในส่วนของ กรุณารส ที่กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้
            การที่สังข์ทองหนีนางพันธุรัตไปนั้น เพราะต้องการกลับไปตามหาแม่แท้ ๆ และการที่พระสังข์ขโมยรูปเงาะ นั้นก็เพราะคิดว่าเป็นวิธีเดียวที่จะพาหนีไปจากเมืองยักษ์ได้ ซึ่งจะเห็นได้จากบทประพันธ์นี้
                           ซึ่งกูจะหลงอยู่ในเมืองยักษ์           แม้มมิลักรูปเงาะเหาะหนี
                           ที่ไหนจะได้เห็นชนนี                  นับปีเดือนแล้วจะแคล้วไป
                                                                    (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย,2540: 119)
โดยพระสังข์นั้นต้องหนี้ไปด้วยความหวาดกลัวว่านางพันธุรัตจะตามเจอ จึงได้อธิฐานขอให้คุณพระมารดาปกป้องอย่าให้มีอันตรายเกิดขึ้น สุดท้ายแล้วนางพันธุรัตก็ตามหาจนเจอ แต่ไม่สามารถเข้าใกล้พระสังข์ได้ทำให้นางพันธุรัตได้แต่อ้อนวอนของให้พระสังข์มาหาตน แต่พระสังข์นั้นหวาดกลัวนางพันธุรัต และการที่พระสังข์ไม่ยอมลงมาหานางพันธุรัตนั้น ผู้วิจารณ์คิดว่าเกิดจากความไม่เชื่อใจ เนื่องจากพระสังข์ได้รู้ความจริงว่านางพันธุรัตแท้จริงแล้วเป็นยักษ์  โดยที่นางพันธุรัตพยายามปกปิดเรื่องที่นางเป็นยักษ์มาโดยตลอด แต่ถึงอย่างนั้นการที่พระสังข์ทำเหมือนจะไม่สนใจนางพันธุรัตนั้นก็ทำให้นางยิ่งกังวล และเหมือนจะกลัวว่าพระสังข์จะรังเกียจตน ซึ่งสุดท้ายแล้วการที่นางพันธุรัตอกแตกตายนั้นอาจจะมาจากการตรอมใจและรู้สึกสิ้นหวัง ซึ่งหากถามว่าการกระทำของพระสังข์เป็นการเนรคุณต่อนางพันธุรัตหรือไม่นั้น ผู้วิจารณ์คิดว่าพระสังข์ไม่ได้เนรคุณนางพันธุรัต เพียงแต่การกระทำบางอย่างอาจจะมองว่าพระสังข์นั้นเป็นคนเนรคุณก็จริงอยู่ แต่เมื่อศึกษาดูให้ดีแล้วนั้นการที่พระสังข์ไม่ยอมขอนางพันธุรัตว่าจะออกไปตามหาแม่แท้ ๆ นั้นเป็นเพราะพระสังข์รู้ดีอยู่แล้วว่านางพันธุรัตจะไม่ให้ไปเป็นแน่จึงต้องหาทางแอบหนีไป และการที่ไม่ยอมลงไปหานางพันธุรัตนั้นก็เพราะความรู้สึกไม่เชื่อใจกลัวว่านางพันธุรัตจะโกหก แต่อย่างไรก็ตามเมื่อนางพันธุรัตสิ้นใจพระสังข์ก็ตกใจมาและรีบลงมาหาและร้องไห้พร้อมทั้งกราบเท้านางพันธุรัตเป็นครั้งสุดท้ายพร้อมทั้งสั่งให้จัดงานศพอย่างดีให้สมเกียรติกับนางพันธุรัต ซึ่งทำให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วพระสังข์นั้นก็ยังรักและเคารพนางพันธุรัตเหมือนกับแม่แท้ ๆ คนหนึ่ง
            ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต เป็นตอนที่หนึ่งที่แสดงให้ถึงความรักของคนเป็นแม่ ถึงแม้ว่านางพันธุรัตจะเป็นแม่เลี้ยงแต่ก็เลี้ยงดูพระสังข์ด้วยความรักเหมือนกับเป็นลูกในไส้ของตน ถึงแม้พระสังข์จะหนีและขโมยของไปนั้น ก็ยังไปตามหาด้วยความเป็นรู้สึกที่เป็นห่วงมากกว่าจะไปลงโทษพระสังข์ เห็นได้จากตัวอย่างต่อไปนี้
                           ยืนพินิจพิศเพ่งอยู่เป็นครู่               ลูกรักของกูแล้วสิหน่า
                           ตบมือหัวเราะทั้งน้ำตา                 ร้องเรียกลูกยาด้วยยินดี
                                                                    (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย,2540: 126)
ถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้วนางพันธุรัตนั้นรู้ดีว่าตนใกล้จะสิ้นใจแล้ว นางพันธุรัตก็ยังคงเป็นห่วงพระสังข์กลัวว่าถ้าจากอ้อมอกของนางไปแล้วจะลำบากจึงให้มนต์วิเศษที่เอาไว้ใช้เรียกสัตว์ในป่าคือ มหาจินดามนต์ แก่สังข์ทอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรักและความเป็นห่วงของคนเป็นแม่ที่กลัวว่าลูกจะลำบาก ถึงแม้ว่าตอนที่นางพันธุรัตใกล้จะสิ้นใจนั้น บทประพันธ์กล่าวว่า
                              ทั้งรักทั้งแค้นแน่นจิต                 ยิ่งคิดเคืองขุ่นมุ่นหมก
                              กลิ้งกลับสับส่ายเพ้อพก               นางร่ำร้องจนอกแตกตาย
                                                                    (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย,2540: 129)
คำว่า ทั้งรักทั้งแค้น นั้นผู้วิจารณ์คิดว่าเป็นการสื่ออารมณ์แบบมีความรู้สึกแบบทั้งรักทั้งโกรธอยู่ในนั้น กล่าวคือเพราะนางพันธุรัตรักพระสังข์มากทำให้ไม่คาดคิดว่าสังข์ทองจะแอบหนีไปพร้อมกับขโมยของของนางไป จึงทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนกับโดนหักหลังจากคนที่รัก และเพราะรักมากจึงทำให้สับสนในความรู้สึกและตรอมใจตายในที่สุด              
            ดังนั้นวรรณคดีบทละครนอก เรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต นั้นรูปแบบคำประพันเป็นแบบกลอนสุภาพ มีการใช้คำศัพท์ทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจง่าย กวีกำหนดให้ตนเป็นผู้พูดบรรยายบุรุษที่ 3 คือเป็นผู้เล่าเรื่อง สังข์ทองเป็นวรรณกรรมบันเทิง รสที่ปรากฏในตอนนี้นั้นมีทั้งหมด 6 รส ได้แก่ ศฤงคารรส เราทรรส หาสยรส กรุณารส ภยารส และอัทภุตรส ซึ่งรสที่ปรากฏรสที่เด่นที่สุดคือ กรุณารส และกระทำของพระสังข์นั้นผู้วิจารณ์คิดว่าไม่เป็นการเนรคุณต่อนางพันธุรัต เพียงแต่พระสังข์เพียงแค่รู้สึกไม่เชื่อใจนางพันธุรัต แต่อย่างไรก็ตามพระสังข์นั้นก็ยังรักและเคารพนางพันธุรัตเหมือนกับแม่แท้ ๆ นอกจากนี้ในตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัตนั้นทำให้ผู้วิจารณ์ได้เห็นถึงมุมมองความรักของนางพันธุรัตที่มีต่อพระสังข์  โดยแสดงให้เห็นถึงความรักของคนเป็นแม่ ถึงแม้จะไม่ใช้ลูกแท้ ๆ แต่ก็รักและเลี้ยงดู ดูแลอย่างดี ถึงแม้นางพันธุรัตจะรู้สึกผิดหวังในตัวพระสังข์ แต่ก็ยังคงทำหน้าที่แม่ได้ดี

กมลรัตน์ กรุดสายสอาด




เอกสารอ้างอิง

พุทธเลิศหล้านภาลัย, พระบาทสมเด็จพระ. 2540. บทละครนอกสังข์ทอง. กรุงเทพฯ: คุรุสภาลาดพร้าว 


ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เรื่องสั้น นกเขาไฟ : ความเชื่อเรื่องนกเขาไฟกับความคิดของคนในสังคมไทย

บทวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ จาก มีดประจำตัว สู่ น้องเมย์ไปงานเลี้ยงปีใหม่ : สัมพันธภาพสะท้อนสังคมของ “มีด” และ “ใบหน้า” ของ ชลเทพ อมรตระกูล และบทวิจารณ์ของ ภาณุ ตรัย เขียนถึง ชลเทพ อมรตระกูล