วิจารณ์ “อำนาจ” ที่ปรากฏในหนังสือรวมเรื่องสั้น พ่อผู้ไม่อยากเดินทางไปรัสเซีย
วิจารณ์
“อำนาจ” ที่ปรากฏในหนังสือรวมเรื่องสั้น พ่อผู้ไม่อยากเดินทางไปรัสเซีย
หนังสือเรื่อง พ่อผู้ไม่อยากเดินทางไปรัสเซีย
เขียนโดย ภพ เบญญาภา เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นทั้งหมด 12
เรื่อง โดยเรื่องสั้นที่ได้ตีพิมพ์ในนิตยสาร ได้แก่ ผมแค่จะออกไปเดินเล่น, ขุนข่าว,
ครั้งหนึ่งในชีวิตของชายจรจัด, บ่วงชีวิต, ภาพเหมือนคนรักของลุงเปี๊ยก,
ลูกคนฝนทั่ง, แม่, อย่าเรียกผมว่าวีรบุรุษ, ชายชราแห่งเมืองโลหะอันว่าเหว่,
กรงแห่งความเดียวดาย, สวนแห่งความสุข และเรื่องสั้น พ่อผู้ไม่อยากเดินทางไปรัสเซีย
เผยแพร่เฉพาะในหนังสือเรื่อง พ่อผู้ไม่อยากเดินทางไปรัสเซีย เท่านั้น
สิ่งที่แสดงให้เห็นเด่นชัดใน
หนังสือเรื่อง พ่อผู้ไม่อยากเดินทางไปรัสเซีย คือการตกอยู่ในอำนาจ รูปแบบต่าง ๆ ซึ่งราชบัณฑิตยสถานอธิบายคำว่า
“อำนาจ” ว่า
สิทธิ เช่น
มอบอํานาจอิทธิพลที่จะบังคับให้ผู้อื่นต้องยอมทําตามไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจหรือไม่
หรือความที่สามารถบันดาลให้เป็นไปตามความประสงค์ เช่น อํานาจบังคับของกฎหมาย
อํานาจบังคับบัญชา ความสามารถหรือสิ่งที่สามารถทําหรือบันดาลให้เกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้
เช่น อํานาจคุณพระศรีรัตนตรัย อํานาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กําลังพลัง เช่น อำนาจจิต
อำนาจฝ่ายสูง อำนาจฝ่ายต่ำ ความรุนแรง เช่น ชอบใช้อํานาจ การบังคับบัญชา เช่น
อยู่ใต้อํานาจ การบังคับ เช่น ขออํานาจศาล.
(ราชบัณฑิตยสถาน,
ออนไลน์)
กล่าวคือ
อำนาจ คือสิ่งที่สามารถควบคุมผู้คนได้ โดยที่อำนาจจะเป็นทั้งตัวนามธรรม
หรือรูปธรรม ซึ่งอำนาจบางครั้งก็ควบคุมการนึกคิดหรือการกระทำของเราได้ เช่น
อำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่มีตัวตนหรือเป็นนามธรรม
ที่ถ้าหากว่าเราเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เราก็ไม่กล้าที่จะทำสิ่งที่ไม่ดีเพราะกลัวว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะลงโทษเรา
หรืออำนาจทางกฎหมายที่บอกถึงสิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ไม่ควรทำพร้อมทั้งมีบทลงโทษผู้ที่ต่อต้านหรือไม่ปฏิบัติตามเป็นต้น
รูปแบบของอำนาจต่าง ๆ ที่ปรากฏในเล่นนี้
ผู้วิจารณ์คิดว่ามีดังนี้ ในเรื่อง ผมแค่จะออกไปเดินเล่น คือ อำนาจของคำว่า “หน้าที่”
ที่เป็นสิ่งที่ทุกคนรู้ดีว่าทุกคนต้องทำมัน
ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งเรานั้นไม่อยากทำหรือไม่ต้องการมัน
แต่ผู้วิจารณ์เชื่อว่าทุกคนเกิดมาพร้อมกับคำว่าหน้าที่
และสามารถตายเพราะหน้าที่ได้เช่นกัน และอำนาจของพ่อ
ที่เกิดมาจากความสัมพันธ์ตั้งแต่วัยเด็กซึ่งมักจะเป็นในทางดี
ทำให้ผู้เป็นลูกนั้นเกิดความไว้ใจและเชื่อถือผู้เป็นพ่อ
ฉะนั้นเมื่อโตขึ้นและเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเองแล้วก็จริง
แต่ถ้าหากสิ่งที่ตนคิดขัดกับผู้เป็นพ่อไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรสุดท้ายแล้วก็ต้องผ่ายแพ้ให้กับเหตุผลของพ่อ
เพราะความสัมพันธ์และความรัก ซึ่งที่ส่งผลกระทบต่อตัวละครเอกของเรื่องเป็นผู้ชายคนหนึ่งที่มักจะโดนบังคับให้ทำสิ่งต่างๆ
ซึ่งคนที่สั่งให้เขาทำมักจะบอกว่า “มันเป็นหน้าที่” ไม่ว่าจะเป็น แม่ที่สั่งให้เขาไปเรียนหนังสือเพราะมันเป็นหน้าที่
พ่อที่บังคับให้เรียนกฎหมายและทำอาชีพเป็นทนายเพราะมันเป็นหน้าที่ของลูกที่ต้องทำตามธรรมเนียมของครอบครัว
การทำงานเป็นทนายก็ต้องว่าความให้ชนะเพราะมันเป็นหน้าที่ของทนาย
ถึงแม้ลูกความจะทำผิดแต่ก็ต้องทำให้พ้นผิดให้ได้ หน้าที่ของสามีที่ต้องมีลูก
และหน้าที่ของพ่อที่ต้องเป็นเสาหลักของครอบครัว
โดยตัวละครพยายามหลีกหนีในสิ่งที่ไม่ต้องการจะทำโดยการพูดว่า
“ผมแค่จะออกไปเดินเล่น”
ซึ่งเป็นการสื่อให้เห็นว่าตัวละครต้องการที่จะอยู่คนเดียวและทำในสิ่งที่ตนต้องการ หรือต้องการจะต่อต้าน
แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องยอมจำนนให้กับอำนาจของคำว่า “หน้าที่”
โดยที่เขาไม่สามารถทำอะไรได้
ต่อมาเรื่อง ขุ่นข่าว
อำนาจที่ปรากฏในเรื่องนี้คือ อำนาจของข่าว
ที่สามารถส่งผลกระทบบางอย่างแก่คนที่อ่าน ดูหรือติดตามข่าว ทั้งในทางดีและไม่ดี ซึ่งในเรื่องนี้
ขุ่นข่าว เป็นฉายาของผู้ชายคนหนึ่งที่ชอบอ่านข่าว ดูข่าว
และชอบที่จะเป็นคนแรกที่รู้ข่าวสารต่าง ๆ จนชาวบ้านตั้งฉายา ขุ่นข่าว ให้
ซึ่งขุ่นข่าวนั้นมักจะดูหรือเสพข่าว พร้อมกับการวิจารณ์ข่าวต่าง อยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นเวลากินข้าวก็ตาม
ขุ่นข่าวมองอ่านหรือดูข่าวเป็นเพียงเรื่องสนุกหรือเป็นเหมือนละครอย่างหนึ่ง
โดยหลงลืมไปว่าบางข่าวที่ออกมากนั้นเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงและเป็นความเดือดร้อนของผู้คนหรือใครสักคนหนึ่ง
และไม่ควรมองเป็นความสนุก ซึ่งความหลงใหลในข่าวของขุ่นขาว
ทำให้ตัวเขาถูกดึงดูด้วยอำนาจบางอย่างของข่าว โดยยินยอม
แต่สิ่งที่ทำให้ขุ่นข่าวได้รับรู้ถึงอำนาจของข่าว
ที่ส่งผลต่อจริงใจของผู้รับรู้ข่าว คือข่าวการเสียชีวิตของน้องสาว
จากเหตุการณ์เรือล่มในทะเลอันดัน
ซึ่งในตอนแรกที่ข่าวนี้ออกมากข่าวขุ่นก็ไม่ได้สนใจอะไร
และค่อนข้างจะเบื่อหน่ายข่าวนี้ที่ออกอยู่หลายวัน
จนวันหนึ่งนั่งดูข่าวและเห็นรายชื่อผู้เสียชีวิตบนหน้าจอโทรทัศน์เป็นชื่อของน้องสาว
และทำให้เขาเข้าใจสิ่งที่น้องสาวเคยบอกเขาว่า
“คนเราไม่ควรเสพข่าวสารราวกับว่ามันคือความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง
แต่คนเราควรอ่านและดูมันด้วยหัวใจ” ซึ่งนั้นทำให้ขุ่นข่าวรู้สึกเสียใจ
และเข้าใจในสิ่งที่น้องสาวเคยบอกกับเขา
ต่อมาเรื่อง
ครั้งหนึ่งในชีวิตของชายจรจัด อำนาจที่ปรากฏในเรื่องนี้คือ อำนาจของเงิน
และอำนาจของคนที่มีการศึกษา อำนาจของเงิน สามารถทำให้คนเราเป็นที่ต้องการ
และเป็นสิ่งที่ทำให้ใคร ๆ ต่างให้ความสนใจ อยากจะทำดีด้วยเพื่อหวังว่าจะสิ่งตอบแทน
และอำนาจของคนที่มีการศึกษา ทำให้คนนั้นเป็นที่น่าดูเชื่อถือ และเป็นที่เคารพ
ซึ่งในเรื่องนี้ ตัวละครเอกของเรื่องคือ ไอ้ตึ๋ง เป็นคนจรจัดเก็บขยะขาย
พิการหูหนวก เป็นใบ้ วันหนึ่ง
เขาก็ไปเก็บล็อตเตอรี่ที่ถูกรางวัล สี่ล้านบาท แต่ด้วยเป็นคนจรจัดไม่มีบัตรประชาชนจึงต้องให้เฮียฟู่
ที่เป็นข้าราชการระดับ 3 ที่เป็นคนตั้งชื่อให้และคอยช่วยเหลือไอ้ตึ๋งมาก่อน
ในการไปขึ้นเงินและเป็นคนเก็บเงินให้ หลังจากที่ทุกคนในชุมชนรู้ว่าไอ้ตึ๋งมีเงิน
ทุกคนก็ต่างทำดีกับเขาโดยที่เมื่อก่อนแทบจะไม่เคยสนใจ และทำให้ไอ้ตึ๋งมีชีวิตที่มีความสุขมีกินมีใช้ซื้อในสิ่งที่ต้องการโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง
เป็นการแสดงให้เห็นถึงอำนาจของเงินที่ทำให้ชีวิตขอคนคนหนึ่งเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้
แต่อำนาจของเงินก็ทำให้ชีวิตของไอ้ตึ๋งถึงแก่ความตาย
โดยคนที่มันไว้ใจและเคารพนับถือ คือเฮียฟู่ที่พลักไอ้ตึ๋งตกคลอง
ซึ่งเป็นคนมีการศึกษาหรือมีอำนาจของคนที่มีการศึกษา
ที่สามารถแก้ตัวหาทางรอดให้ตัวเองพ้นผิดจากการฆ่าไอ้ตึ๋งได้ โดยอ้างว่า ไอ้ตึ๋ง
มันโดดน้ำฆ่าตัวตายจากความเสียใจเรื่องชบาที่หนีไป
ต่อมาเรื่อง บ่วงชีวิต
อำนาจที่ปรากฏในเรื่องนี้คือ อำนาจของผู้ชาย ที่สามารถควบคุมผู้หญิงหรือส่งผลถึงชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งได้
จากพละกำลังที่แข็งแกร่งกว่าผู้หญิง
หรือความปลูกฝังที่ว่าผู้ชายต้องเป็นผู้นำและผู้หญิงต้องเป็นผู้ตาม โดยเรื่องนี้เกี่ยวกับผู้หญิงที่ชื่อ
มาลี ในวัย 59 ปี ที่พยายามหนีออกจากบ้าน
หลังจากที่ทั้งชีวิตต้องทุกข์ทรมานและอยู่ใต้อำนาจของผู้ชาย ได้แก่ พ่อ พี่ชาย
สามี และลูกชาย มานาน แม้จะพยามที่จะหลบหนีไปแต่สุดท้ายก็ไม่สามารถไปไหนได้
วัยเด็กต้องอยู่กับพ่อสองคนหลังจากที่แม่เสียชีวิต
ชีวิตของมาลีก็ต้องลำบากเพราะพ่อไม่ได้สนใจดูแล หลังจากที่พ่อเสียชีวิตก็ไปอาศัยอยู่กับพี่ชายและต้องเป็นที่รองรับอารมณ์ของพี่ชายหรือพี่สะใภ้
เพราะรู้สึกว่ามาลีนั้นเป็นภาระ
หลังจากที่อยู่กลับพี่ชายมาสองปีโดยที่ไม่ได้โอกาสเรียนหนังสือจากนั้นพี่สาวจึงได้มาพาไปอยู่กรุงเทพด้วยโดยส่งเสียให้เรียนหนังสือจนพออ่านออกเขียนได้และก็ให้ไปเรียนเป็นช่างเสริมสวยเพราะอยากให้มีวิชาชีพติดตัว
วันหนึ่งมาลีได้พบรักกับสามีที่เป็นทหารและแต่งงานมีลูกสามคน
โดยคนโตและคนรองเป็นลูกสาว แต่งงานแยกย้ายออกไปหมด และลูกคนเล็กเป็นลูกชายที่ไม่มีงานทำ
ชอบออกไปกินเหล้ากับเพื่อนหรือบางครั้งก็กินเหล้ากับพ่อ
และทั้งสองก็ได้สร้างความลำบากให้มาลีเป็นอย่างมาก แต่ไม่เคยใส่ใจมาลีเลย
ถึงแม้มาลีจะพยามหนีเพียงใดสุดท้ายแล้วความผูกพันก็เป็นสิ่งที่รั้งไม่ให้มาลีหนีไปจากอำนาจของผู้ชายได้
ต่อมาเรื่อง
ภาพเหมือนคนรักของลุงเปี๊ยก อำนาจที่ปรากฏในเรื่องนี้คือ อำนาจของความทรงจำในอดีต
ที่ส่งผลกับคนคนหนึ่งหรือคนอื่น ๆ อีกหลายคน
โดยเรื่องนี้เล่าโดยตัวละครผู้ชายคนหนึ่งที่เล่าถึงการที่เขากำลังกลับไปเจอกับลุงเปี๊ยกพร้อมภาพวาดของลุงเปี๊ยก
และมีการเล่าถึงอดีตที่เขานั้นชอบไปหาลุงเปี๊ยกและฟังเรื่องเล่าในอดีตของลุงเปี๊ยก
ซึ่งเมื่อไรก็ตามที่ลุงเปี๊ยกเล่าเรื่องในอดีตให้ฟัง
ลุงจะดูเหมือนกับคนหนุ่มที่เต็มไปด้วยความสุข ลุงเปี๊ยกเป็นคนที่ชอบและรักในงานศิลปะและมีภาพวาดที่เป็นรูปผู้หญิงอยู่หลายรูปซึ่งเป็นของที่ลุงรักและหวงมาก
วันหนึ่งเขาต้องย้ายไปอยู่จังหวัดอื่นลุงเปี๊ยกจึงให้เขาเลือกภาพวาดที่แก่รักไปหนึ่งรูปเพื่อเป็นของที่ระลึกแก่เขา
การกลับมาในครั้งนี้เขาได้ทราบข่าวร้ายที่ว่าลุงเปี๊ยกได้เสียชีวิตไปแล้ว โดยเขาได้มอบรูปวาดไว้กับเมียลุงเปี๊ยกซึ่งหลักจากเห็นรูปนางก็ฉีกทิ้งและร้องไห้พร้อมกับพูดตัดพ้อว่า
ลุงเปี๊ยกนั้นไม่เคยวาดรูปของตนเลยทั้ง ๆ ที่เป็นเมีย
ซึ่งจากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า
อำนาจของความทรงจำในอดีตนั้นส่งผลต่อคนได้ทั้งดีและร้าย
ต่อมาเรื่อง ลูกคนฝนทั่ง อำนาจที่ปรากฏในเรื่องนี้คือ
อำนาจของสังคมการเป็นพยามเป็นที่ยอมรับ นั้นที่ส่งผลต่อตัวละครที่ชื่อว่า อุตสาหะ คือเขาที่มักจะตามเพื่อนในทุก
ๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน การทำงาน เพราะเขาคิดว่า การไหลไปตามกระแสสังคม
มันเป็นเรื่องง่าย ไม่เหงา และไม่ยุ่งยาก
และเป็นสิ่งที่จะทำให้เขามีชีวิตที่สุขสบาย
ถึงแม้พ่อของเขาพยามบอกให้เขาพยายามหาจุดมุ่งหมาย เป้าหมายของตัวเอง แต่สุดท้ายแล้วหลังจากเขากำลังจะล้มเหลวในชีวิตที่ตามกระแสสังคม
เขาก็ได้นึกถึงพ่อของเขาที่มักจะนั่งฝนทั่งอยู่ใต้ถุนบ้านอย่างมีความสุขและมีความหวังว่ามันจะเป็นเข็ม
พร้อมกับพยายามบอกเขาว่า เขาควรจะรีบลงมือฝนทั่งตั้งแต่ตอนนี้ในขณะที่ยังมีแรง
หากไม่มีเข็มที่ฝนด้วยความพยายามและความมุ่งมั่นใส่ในโลงศพตามธรรมเนียมครอบครัวก็เหมือนกับเสียแรงที่เกิดมาบนโลกนี้
และจากไปด้วยการไร้ความมุ่งมั่นและเป้าหมายในชีวิต ซึ่งเขาพยายามจะเริ่มฝนทั่งเป็นของตัวเองแต่แล้วมันก็สายเกินไป
เพราะสุดท้ายแล้วอุสาหะก็ต้องตายเพราะการที่เขาพยายามตามกระแสสังคมไปถึงแม้เริ่มต้นมันจะดีแต่สุดท้ายแล้วเขาก็เดินไปผิดทาง
ต่อมาเรื่อง แม่
อำนาจที่ปรากฏในเรื่องนี้คือ อำนาจของเวลา
ที่มีแต่เดินไปข้างหน้าและไม่สามารถย้อนกลับมาได้ จะเหลือเพียงความทรงจำที่ทำให้เรานึกถึงเท่านั้น
โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของผู้ชายคนหนึ่งที่ชีวิตเต็มไปด้วยความสนุก
อาชีพของเขาคือนักดนตรี ที่ได้พาแม่วัย 65 ปี
ไปหาหมอแทนพี่ชาย ซึ่งการไปหาหมอนั้นเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ
เพราะต้องใช้เวลาในการรอที่นานและจำเป็นต้องไปแต่เช้าถึงหมอจะนัดตอนบ่ายก็ตาม
ทำให้เขาเบื่อ เขาจึงปล่อยให้แม่รออยู่ห้องตรวจเพียงลำพัง
และตัวเขาก็ออกไปเดินเล่นเพื่อรอเวลา
การที่เขาออกไปเดินเล่นทำให้เขาพบเจอผู้คนและเห็นเด็กคนหนึ่งที่ร้องไห้เพราะของเล่นพังทำให้เขานึกถึงอดีตในวัยเด็กของเขาหลักจากนั้นเขาก็เริ่มนึกถึงแม่ของเขา
และตั้งใจไปซื้อซาลาเปาที่แม่ชอบมาให้แม่ และเริ่มคิดที่จะดูแลแม่บ้างหลักจากที่ปล่อยให้พี่ชายเป็นคนดูแลมาตลอด
ระหว่างทางเขาเดินมาด้วยความสุข หลังเห็นแม่นอนหลับอยู่บนรถเข็น
พอเขาเข้ามาใกล้กลับกลายเป็นว่าแม่ของเขาได้เสียชีวิตไปแล้ว
ซึ่งจากเรื่องนี้ทำให้เห็นว่า อำนาจของเวลา ไม่เคยหยุดรอใคร
แม้ตอนนี้เรากำลังมีความสุขอยู่แต่แล้วเวลาก็สามารถพรากเอาความสุขของเราไปได้โดยไม่ทันตั้งตัว
แต่ก็จะเหลือเพียงความทรงจำไว้ให้เราเท่านั้น ไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้
ต่อมาเรื่อง อย่าเรียกผมว่าวีรบุรุษ
อำนาจที่ปรากฏในเรื่องนี้คือ อำนาจของอุดมการณ์ และอำนาจของหน้าที่ อำนาจของอุดมการณ์
คือการที่คนเราเชื่อในความคิดหนึ่งที่ว่างแผน หรือแนวปฏิบัติที่ตั้งมั่นไว้
ว่าจะกระทำ ไม่ว่าความคิดหรือการปฏิบัตินั้นจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ และอำนาจของหน้าที่ก็คือสิ่งที่กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้
โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของชายวัยกลางคนที่มีครอบครัวที่อบอุ่นกำลังรอที่จะพบกับเด็กหนุ่มคนหนึ่ง
หลักจากที่เขาได้พบเด็กหนุ่มก็ทำให้เขานึกถึงอดีตสมัยที่ยังเป็นเด็กหนุ่ม
ซึ่งเด็กหนุ่มที่มาพบเขานั้น
เต็มเปรี่ยมไปด้วยพลังความมุ่งมั่นและอุดมการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงในสังคม
ต้องการที่จะช่วยเหลือชาติบ้านเมืองให้ดีขึ้น จนลืมนึกถึงตัวเอง
เด็กหนุ่มพยายามขอร้องให้เขาช่วยไปเป็นผู้ในในการเปลี่ยนแปลงสังคม
เขาพยายามที่จะปฏิเสธเด็กหนุ่มคนนั้น
ด้วยเพราะตอนนี้เขามีภาระหน้าที่ที่จะต้องดูแลทั้งลูกทั้งเมีย
ถ้าหากขาดเขาไปอาจจะลำบาก
ซึ่งเด็กหนุ่มนั้นได้แสดงให้เห็นถึงคนที่ตกอยู่ในอำนาจของอุดมการณ์ และพยายามที่จะทำตามอุดมการณ์จนไปสนใจแม้แต่ตัวเอง
นอกชายหนุ่มก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึง อำนาจของหน้าที่
ที่ต้องเป็นหัวหน้าครอบครัวและคอยดูแลปกป้องครอบครัวของตน
ต่อมาเรื่อง
ชายชราแห่งเมืองโลหะอันว้าเหว่ อำนาจที่ปรากฏในเรื่องนี้คือ อำนาจของผู้มีอำนาจ ในเรื่องนี้ผู้มีอำนาจก็คือ
ประมุขแห่งเมืองโลหะ
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางของชายคนหนึ่งที่พยายามเดินทางไปยังเมืองแห่งการเริ่มต้น
และได้ผ่านมาเจอเมืองที่ดูทันสมัย ทั้งเมืองสร้างด้วยโลหะสีเงิน
แต่กลับเงียบเหงาไม่มีผู้คนอาศัยจนได้เจอกับชายชราคนหนึ่งที่ยังคงแข็งแรงดี
ซึ่งก็คือ ประมุขแห่งเมืองโลหะ โดยเด็กหนุ่มได้ร้องขอเสบียงอาหารยา จากชายชรา
และได้ขอพักอาศัยชั่วคราวสักคืน ซึ่งชายชราก็ตกลง และเด็กหนุ่มก็เกิดความรู้สึกพอใจกับเมืองอันทันสมัยแห่งนี้จะเกือบคิดที่จะไม่เดินทางต่อ
แต่เมืองถามชายชราว่าทำไมจึงไม่มีใครอยู่ในเมืองนี้
คำตอบที่ได้คือเพราะผู้คนในเมืองเอาแต่เรียกร้องในสิ่งที่ชายชราไม่ต้องการ
และไม่รู้จักพอจึงทำ
เพราะทุกคนในเมืองไม่ยอมรับในอำนาจสิทธิ์ขาดของชายชราจึงทำให้พวกคนในเมืองพากันจากไป หลักจากนั้นชายชราขอให้เด็กหนุ่มอยู่ในเมืองแห่งนี้
ซึ่งเด็กหนุ่มเกิดการลังเลใจ
จากนั้นชายชราก็ยกปืนขึ้นมาจะยิงเด็กหนุ่มหากเขาปฏิเสธเขาก็จะถูกฆ่าตายเหมือนกับชาวบ้านในเมืองนี้
แต่แล้วเด็กหนุ่มก็จากเมืองแห่งนี้ไป
ซึ่งอำนาจที่ชายชราได้รับนั้นเป็นอำนาจเด็ดขาดหรือที่สามารถฆ่าคนได้ก็จริง
แต่แล้วอำนาจที่ชายชราได้รับก็กลับทำร้ายตัวของเขาเอง
กล่าวคืออำนาจจะมีความหมายอะไรถ้าไม่สามารถสั่งการใครได้อีก
สุดท้ายแล้วก็เหลือแต่ความว่างเปล่า
ต่อมาเรื่อง กรงแห่งความเดียวดายอำนาจ
ที่ปรากฏในเรื่องนี้คือ อำนาจของความเจริญหรือเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมากในปัจจุบันใน
ยุคที่ทุกคนติดต่อกันผ่านโซเชียวมากกว่าที่จะมานั่งคุยกัน
และการที่จมอยู่กับโซเชียว ก็เหมือนกับการกักขังตัวเองให้อยู่แต่ในกรง
ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของชายคนหนึ่ง
ที่พยายามกำจัดความเหงาของตัวเองโดยการคุยกับโปรแกรมแชทในคอมพิวเตอร์ที่ชื่อว่า
“สนทนาทุกเรื่องราวกับหนูนา” และชายหนุ่มเมื่อได้คุยกับหนูนาก็ทำให้เขามีความสุข
จนลืมเลือนความเหงาก่อนหน้านี้ทุกวันเขาจะคุยกับหนูนาในเรื่องต่าง ๆ
จนวันหนึ่งเขาถามหนูนาว่า “หนูนารักผมไหม”
ซึ่งนั้นทำให้หนูนาไม่สามารถหาคำมาตอบเขาได้ ต่อมาเขาไม่สามารถติดต่อหนูนาได้อีก
ซึ่งระบบของหนูนาได้ถูกพัฒนาระบบขึ้นมาใหม่ หลังจากที่อันเก่ามีปัญหา
จึงทำให้เขาเกิดความรู้สึกเปลี่ยวเหงาอีกครั้ง
จากเนื้อเรื่องทำให้เห็นแม้ความเจริญหรือเทคโนโลยีจะพัฒนาให้ดีขึ้นเพียงใดก็ไม่สามารถทำให้คนหลุดออกมาจากความเปลี่ยวเหงาได้
มีแต่จะทำให้จมอยู่ในอำนาจของความเจริญหรือเทคโนโลยี ซึ่งยากที่จะหลุดพ้น
ต่อมาเรื่อง สวนแห่งความสุข
อำนาจที่ปรากฏในเรื่องนี้คือ อำนาจของหัวหน้าหรือผู้ใหญ่ เป็นอำนาจที่จะพบเห็นส่วนมากในสถานที่ทำงาน
เป็นอำนาจที่มักจะมองถึงประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องโดยไม่สนใจความถูกผิด
และไม่สนใจว่าจะมีผู้ใดเดือดร้อนบ้าง โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของ ทิวา
ชายหนุ่มที่ผิดหวังจากการที่เขาได้ลงชื่อคัดค้านการประกวดราคาประมูลโครงการ
ซึ่งเขามองว่าบริษัทที่ชนะการประกวดราคาในครั้งนี้ไม่ดีพอ
แต่เพราะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เห็นด้วยกับบริษัทนี้
ทำให้ความคิดเห็นของเขาไร้ความหมาย จนถูกเรียกไปตักเตือน ทำให้เขารู้สึกสิ้นหวัง
เคว้งคว้าง และสิ่งที่เขาพยายามกระทำเพื่อจะให้หลุดไปจากอำนาจนี้คือการ ที่เขาอ่านเจอเรื่องสวนแห่งความสุข
และนั้นทำให้เขาเริ่มตัดสินใจเดินทางออกตามหามันจนลืมนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้
จนลืมเกือบจะลืมภาระหน้าที่การงานของเขา
แต่เขาก็ยังเลือกที่จะเดินทางไปหาสวนแห่งความสุข
แม้ว่าการเบียดบังเวลาราชการไปใช้ในเรื่องส่วนตัวก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่ทุจริตเรื่องเงินเรื่องผลประโยชน์
คือหาประโยชน์ใส่ตน ทั้งที่ยังกินเงินเดือนจากภาษีประชาชนผู้ลำบาก
ซึ่งทิวาเองนั้นสุดท้ายก็หาผลประโยชน์ให้ตัวเองไม่ต่างอะไรกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
และนอกจากนี้การที่ทิวาพยายามไปสวนแห่งความสุขจนยอมทิ้งหน้าที่จากงานนั้น
ผู้วิจารณ์คิดว่า เป็นการแสดงให้เห็นถึง อำนาจของสวนแห่งความสุข
รอลวงให้ทิวาหลงเชื่อ และพยายามเดินทางไปหามัน โดยไม่สนใจสิ่งใด
และทำให้เขาคิดว่าเมื่อเจอสวนนั้นแล้วจะทำให้เขามีความสุข
ซึ่งในความเป็นจริงก็อาจจะไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป
สุดท้ายเรื่อง
พ่อผู้ไม่อยากเดินทางไปรัสเซีย อำนาจที่ปรากฏในเรื่องนี้คือ อำนาจของพ่อ
ที่แม้ว่าจะไม่มีชีวิตอยู่แล้วแต่ก็ยังส่งผลกระทบต่อตัวละคร ที่เป็นลูกชาย และอำนาจของความทรงจำในอดีต
โดยเรื่องนี้เป็นการเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับผู้ชายคนหนึ่งที่ยังคงมองเห็นวิญญาณ
ของพ่อที่เสียชีวิตไปแล้วที่รัสเซีย เมื่อหลายปีก่อน ในวัยเด็กเขาเคยโดยพ่อตบหน้า
และนั้นทำให้ความสัมพันธ์ของเขาและพ่อเป็นไปในทางที่ไม่ดี และเขามักจะหลบหน้าพ่ออยู่เสมอ
จนวันที่พ่อเสียชีวิตในรัสเซีย ทำให้เขาเสียใจมาก
และเมื่อวิญญาณของพ่อมาหาก็มักจะทำในสิ่งที่ตอนพ่อมีชีวิตอยู่ไม่เคยทำมากก่อน ซึ่งการที่เขามองเห็นวิญญาณและการกระทำบางอย่างของพ่อที่เมื่อตอนมีชีวิตอยู่ไม่เคยทำนั้นผู้วิจารณ์คิดว่า
สิ่งที่ตัวละครเห็นจริง ๆ
แล้วเป็นเพียงภาพที่เขานึกฝันอยากให้พ่อทำแบบนั้นกับตนเพื่อเยียวยาหรือแก้ไขในสิ่งที่พ่อตบหน้าเขาในอดีต
และการที่เขานึกถึงอดีตอันเลวร้าย ทำให้เขาได้ให้สัญญากับลูกชายวัย 3
ขวบ ว่าเขาจะไม่มีวันตบหน้าลูกเด็ดขาด ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร
หลังจากนั้นเขาได้พาลูกไปอาบน้ำและสั่งให้นั่งทำการบ้าน จากนั้นถึงจะดูการ์ตูนได้
ด้วยความเป็นเด็กลูกของเขาจึงพยายามต่อรองและไม่ทำตามคำสั่ง
ด้วยความโมโหทำให้เขาเอาไม้แขวนเสื้อมาตีลูกของเขา ลูกเขาเลยตะโกนใส่เขาว่า
ตีให้ตายเลย ๆ ซึ่งทำให้เขาได้สติและก็กล่าวขอโทษลูก
หลังจากนั้นเขาเริ่มที่จะกลัวว่าลูกจะหนีออกจากบ้าน
เหมือนกับสิ่งที่เขาเคยคิดจะทำในอดีต หลังจากถูกพ่อตบหน้า จากการกะทำดังกล่าวทำให้ผู้วิจารณ์คิดว่า
เขานั้นต้องการที่จะได้ยินคำขอโทษจากพ่อของเขาหลังจากที่ถูกตบหน้า
ถ้าหากวันนั้นพ่อของเขาพูดขอโทษเขา ความสัมพันธ์ระหว่างเขาและพ่ออาจจะดีกว่านี้
ซึ่งอำนาจที่กล่าวมาทั้งหมดมีดังนี้
คือ อำนาจของคำว่า “หน้าที่”, อำนาจของพ่อ, อำนาจของข่าว, อำนาจของเงิน, อำนาจของคนที่มีการศึกษา,
อำนาจของผู้ชาย, อำนาจของความทรงจำในอดีต, อำนาจของสังคมการเป็นพยามเป็นที่ยอมรับ,
อำนาจของเวลา, อำนาจของอุดมการณ์, อำนาจของผู้มีอำนาจ,
อำนาจของความเจริญหรือเทคโนโลยี และอำนาจของหัวหน้าหรือผู้ใหญ่
โดยผู้วิจารณ์มองว่าอำนาจคือสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่มีที่สิ้นสุด
ไม่มีจำเป็นว่าอำนาจนั้นต้องเกิดขึ้นจากบุคคล
บางครั้งเราอาจจะสร้างอำนาจขึ้นมาเพื่อควบคุมตัวเองสร้างอำนาจขึ้นมาเพื่อใช้ในการโยนความผิดให้อำนาจ
หรือรับเอาอำนาจมาใส่ตนเอง และผู้วิจารณ์คิดว่าไม่มีใครหลีกหนีจากอำนาจทั้งหมด
ซึ่งหนังสือเรื่อง พ่อผู้ไม่อยากเดินทางไปรัสเซีย ผู้วิจารณ์คิดว่าหนังสือเล่มนี้
ต้องการจะสื่อให้เห็นถึงอำนาจบางส่วนที่อยู่รอบตัวเรา
โดยอำนาจที่เกิดขึ้นและสามารถครอบงำทุก ๆ คนได้
กมลรัตน์ กรุดสายสอาด
เอกสารอ้างอิง
ภพ เบญญาภา. 2553. พ่อผู้ไม่อยากเดินทางไปรัสเซีย. กรุงเทพฯ: ศิราภรณ์บุ๊คส์.
ราชบัณฑิตยสถาน.
(ม.ป.ป). อำนาจ(Online). https://dictionary.sanook.com/search/dict-th-th-royal-
Institute/อำนาจ.
สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2560
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น